คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4062/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามหนังสือสัญญามีข้อความว่า วันที่ 7 เมษายน 2529 จำเลยได้ขายบ้านพร้อมที่ดิน 1 แปลง ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท ได้รับชำระราคาจากโจทก์แล้ว และยอมมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์วันที่ 30 สิงหาคม 2529 เมื่อสิ้นกำหนดสัญญานี้แล้ว หากจำเลยไม่นำเงินมาชำระคืนในจำนวนดังกล่าว จำเลยจะมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ซื้อเพียงผู้เดียว สัญญาดังกล่าวเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ในข้อสัญญาไม่มีข้อความว่าคู่สัญญาจะไปทำการจดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลัง เพียงแต่มีข้อกำหนดในการชำระราคาคืนอันเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง และข้อกำหนดในการมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์อันเป็นเงื่อนเวลาเท่านั้น จึงเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดหาใช่สัญญาจะซื้อจะขายไม่ เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 115 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนโดยอาศัยมูลจากสัญญาซื้อขายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายที่ดินมือเปล่าพร้อมบ้านในที่ดินให้แก่โจทก์ในราคา 60,000 บาท โดยได้รับเงินไปจากโจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อขายมีเงื่อนเวลาและเงื่อนไขระบุว่าจำเลยจะมอบที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2529 เมื่อครบกำหนดหากจำเลยไม่นำเงินที่ซื้อขายมาชำระคืนโจทก์ จำเลยจะมอบที่ดินและบ้านให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ครั้นเมื่อครบกำหนด จำเลยไม่คืนเงินและไม่ส่งมอบที่ดินพร้อมบ้านให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นค่าดอกเบี้ย 8,350 บาท รวมเป็นเงิน 68,350 บาทและชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวในต้นเงิน 60,000 บาท ต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาตามฟ้องเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดคู่สัญญาไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นโมฆะขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ฟ้องคดีใหม่เพื่อบังคับตามสิทธิของโจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยหรือไม่ ปัญหาข้อนี้จำเลยฎีกาว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดที่มีเงื่อนไขที่คู่กรณีตกลงกันจะส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ซื้อหรือจะนำราคาที่ผู้ซื้อชำระมาคืนสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นโมฆะโจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยอาศัยมูลจากสัญญานั้น ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความเป็นสาระสำคัญว่า วันที่ 7 เมษายน 2529 จำเลยได้ขายบ้านพร้อมที่ดิน 1 แปลง ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาทได้รับชำระราคาจากโจทก์แล้ว และยอมมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์วันที่ 30 สิงหาคม 2529 เมื่อสิ้นกำหนดสัญญานี้แล้ว หากจำเลยไม่นำเงินมาชำระคืนในจำนวนดังกล่าว จำเลยจะมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ซื้อเพียงผู้เดียว เห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456แต่ในข้อสัญญาหาได้มีข้อความว่าคู่สัญญาจะไปทำการจดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลังไม่ เพียงแต่มีข้อกำหนดในการชำระราคาคืนอันเป็นเงื่อนไขบังคับหลัง และข้อกำหนดในการมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์อันเป็นเงื่อนเวลาเท่านั้น สัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาด หาใช่สัญญาจะซื้อจะขายไม่เมื่อสัญญาดังกล่าวมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 115โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนโดยอาศัยมูลจากสัญญาซื้อขายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่เพื่อบังคับตามสิทธิของโจทก์นั้น เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องโดยอาศัยมูลจากสัญญาแล้วก็ไม่จำต้องมีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตัดข้อความในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1ที่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ออกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share