คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 369/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่เป็นการวินิจฉัยนอกคำพยานหลักฐานในสำนวน
เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาเป็นการวินิจฉัยนอกคำพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาย่อมไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยนอกสำนวนนั้น

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องมีใจความว่าระหว่างวันที่ 20 เม.ย. 2499 ถึงวันที่ 2 พ.ค. 2499 จำเลยสมคบกันทำหนังสือปลอมขึ้นฉบับหนึ่งมีใจความสำคัญว่า นายแห สีสวย (ผู้ว่าชนม์) ได้มอบให้จำเลยที่ 3 จัดการเรื่องทรัพย์สมบัติ คือปืน บ้านและที่ดิน นายแหยกให้ ด.ช.ฤาชัย สีสวย บุตรแต่ผู้เดียว ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญหรือหนังสือพินัยกรรมปลอมแล้วจำเลยสมคบกันนำหนังสือฉบับลงวันที่ 20 เม.ย. 2499 ไปแจ้งต่อนายอำเภอพนมสารคาม เพื่อขอรับมรดกของนายแห่

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง เห็นว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลทางอาญาโดยตามคำพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 5 คนได้ปลอมพินัยกรรมเมื่อฟังไม่ได้ว่าพินัยกรรมจะจริงหรือปลอม ในเรื่องใช้หนังสือปลอมก็ฟังไม่ได้ รวมทั้งแจ้งความเท็จ ก็ยังไม่แน่นอนว่าเท็จอย่างไร

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยยกเหตุหลายประการมีความสำคัญว่าไม่มีพยานเห็นว่าจำเลยคนใดเป็นผู้ทำหนังสือปลอม เขียนหนังสือกันที่ไหนวันเวลาใด ใครเป็นผู้เขียน ฯลฯ โจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยสมคบกันทำหนังสือฉบับพิพาทปลอมขึ้น กลับฟังได้ว่าลายเซ็นในหนังสือฉบับพิพาท (หนังสือลงวันที่ 20 เม.ย. 2499) เป็นลายเซ็นอันแท้จริงของนายแหผู้วายชนม์ ข้อหาฐานปลอมหนังสือของโจทก์เป็นอันตกไป เมื่อฟังว่าจำเลยไม่ได้สมคบกันปลอมหนังสือฉบับที่พิพาท ข้อหาฐานใช้หนังสือปลอมก็ฟังไม่ขึ้น ข้อหาฐานแจ้งความเท็จก็เช่นเดียวกัน ฯลฯ

โจทก์ฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายที่ว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีนอกสำนวนและพยานหลักฐานหรือไม่ ในข้อที่ศาลอุทธรณ์กล่าวว่า”กลับฟังได้ว่าลายเซ็นในหนังสือฉบับพิพาท (หนังสือลงวันที่ 20 เม.ย. 2499) เป็นลายเซ็นอันแท้จริงของนายแหผู้วายชนม์ ข้อหาฐานปลอมหนังสือของโจทก์เป็นอันตกไป” โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาต่อศาลฎีกาศาลฎีกาสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งโดยเห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำพยานหลักฐานในสำนวนไม่มีเลยว่าลายเซ็นนายแหในหนังสือฉบับลงวันที่ 20 เม.ย. 2499 เป็นลายเซ็นอันแท้จริงของนายแหผู้วายชนม์ มีคำนายเซี้ยมพยานโจทก์ให้การไว้ตอนหนึ่งว่า”เวลาบ่าย 2 โมงนายดำริปลัดอำเภอกับผู้ใหญ่ทอนมาด้วยกัน อาการนายแหทรุดทรงสติไม่เหมือนคนปกติ นายดำริถามว่าให้การได้ไหมข้าฯ ว่าให้การไม่ได้ เขาเรียกนางส้มเช้าให้ให้การแทน เขาบันทึกให้นายแหเซ็นนายแหเซ็นไม่ได้ ข้าฯ จับมือนายแหเซ็นสองแผ่นมีหนังสือแผ่นหนึ่งไม่มีหนังสือแผ่นหนึ่ง เขาว่านางส้มเช้าไม่ได้ถูกแทงจึงไม่ให้เซ็น ตอนนี้นายแหพูดไม่ได้”

คำนายเซี้ยมนี้ก็มิได้หมายถึงว่านายเซี้ยมจับมือนายแหเซ็นในหนังสือฉบับลงวันที่ 20 เม.ย.2499 ทั้งในตอนท้ายคำให้การนายเซี้ยมก็ยังให้การไว้ว่านายแหพูดไม่ได้เลยตั้งแต่ข้าฯ ไปจนกลับไม่ได้สั่งอะไร ไม่เห็นทำพินัยกรรม

ดังนี้ จึงเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ว่า ลายเซ็นนายแหในหนังสือฉบับลงวันที่ 20 เม.ย.2499 เป็นลายเซ็นนายแหอันแท้จริง อันเป็นเหตุให้วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้ปลอมหนังสือฉบับลงวันที่ 20 เม.ย. 2499 นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกคำพยานหลักฐานในสำนวน ฉะนั้นศาลฎีกาจึงไม่จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมา

และเห็นว่าตามคำพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาไต่สวนพอฟังว่าคดีของโจทก์มีมูล

พิพากษากลับศาลอุทธรณ์โดยให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา

Share