คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4765/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เป็นพยานบอกเล่าอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธต่อศาลและไม่มีข้อเท็จจริงแวดล้อมน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ลำพังรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ยิ่งบันทึกคำให้การของผู้ให้ถ้อยคำ ซึ่งจำเลยให้การปรักปรำตนเองโดยเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อหา ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของตน จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่ได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นอกจากจะเป็นพยานบอกเล่าแล้วยังไม่ชอบธรรมที่จะรับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลย ย่อมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ ให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 220,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (11) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 83 จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี กับให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ลักหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 220,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันและสถานที่เกิดเหตุ มีคนร้ายลักบานพับประตูสเตนเลส 22 กล่อง ราคากล่องละ 10,000 บาท รวมราคา 220,000 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเก็บไว้ที่คลังสินค้าของผู้เสียหายไป ขณะเกิดเหตุจำเลยทำงานเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายตำแหน่งพนักงานชั่วคราวประจำอยู่ที่คลังสินค้าของผู้เสียหาย มีหน้าที่ช่วยยกสินค้าของผู้เสียหายขึ้นรถขนส่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบกล่าวหาว่าจำเลยลักบานพับประตูสเตนเลส จำนวน 22 กล่อง ของผู้เสียหายนั้น มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยให้การปรักปรำตนเอง ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และจำเป็นต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบเพื่อให้เชื่อได้ว่าจำเลยได้ให้การไปตามความจริง เหตุที่ทราบว่าสินค้าบานพับประตูสเตนเลสหายไป 22 กล่อง เพราะมีการตรวจสอบจำนวนสินค้า ซึ่งโจทก์มีเพียงนายมาณพผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายมาเบิกความ แต่โจทก์ไม่ได้นำตัวนายพรเทพหัวหน้างาน ซึ่งเป็นผู้ตรวจพบว่ามีสินค้าหายไปมาเบิกความ ทำนองเดียวกันเหตุที่พบว่าจำเลยเป็นคนร้ายเพราะผู้จัดการบริษัทและนายพรเทพแจ้งว่าจำเลยรับสารภาพ โจทก์ก็ไม่ได้นำผู้จัดการบริษัทและนายพรเทพมาเบิกความ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าในชั้นสอบสวน ร้อยตำรวจเอกศุภชัยก็ดี พันตำรวจโทชำนาญก็ดี ได้สอบปากคำผู้จัดการบริษัทและนายพรเทพเป็นพยานกล่าวหาจำเลย คงสอบปากคำนายพรเทพ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 ในฐานะผู้ให้ถ้อยคำ ซึ่งระบุเพียงว่าบุคคลที่เข้าออกคลังสินค้าได้มี 3 คน คือนายพรเทพ จำเลย และนายสานิตย์ แต่ยังไม่ได้กล่าวหาผู้ใด และให้ถ้อยคำด้วยว่ารถกระบะที่มารับสินค้ามี 3 คัน คือ รถกระบะของนายวันชัย นายวันชัย และนายโตก ไม่ปรากฏว่ามีนายสมพรขับรถมารับสินค้าด้วย ยิ่งกว่านั้นตามทางนำสืบของโจทก์อ้างว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดกับนายสมพร โดยปรากฏตั้งแต่จำเลยรับสารภาพต่อนายพรเทพ ชี้ภาพนายสมพรในชั้นให้ถ้อยคำ และในชั้นให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีแก่นายสมพรอย่างไร คงมีเพียงคำให้การจำเลยชั้นสอบสวนว่า นายสมพรตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ดำเนินคดีความผิดอาญาแผ่นดินและไม่อาจรับฟังเป็นโทษแก่จำเลย โจทก์อ้างว่าจำเลยกับนายสมพร นำสินค้าบานพับประตูออกไปโดยใส่ไว้ใต้ที่นั่งคนขับรถ แต่ไม่ได้นำสืบแสดงว่าช่องใต้ที่นั่งคนขับรถมีลักษณะอย่างไรเพียงพอซุกซ่อนกล่องสินค้าบานพับประตูได้หรือไม่ อีกทั้งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นไม่พบสินค้าบานพับประตูสเตนเลสที่ร้านขายของเก่าที่อ้างว่านายสมพรนำไปขาย และไม่ได้สอบปากคำเจ้าของร้านไว้ด้วย บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เป็นพยานบอกเล่าอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธต่อศาลและไม่มีข้อเท็จจริงแวดล้อมน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ลำพังรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ยิ่งบันทึกคำให้การของผู้ให้ถ้อยคำ ซึ่งจำเลยให้การปรักปรำตนเองโดยเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อหา ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของตน จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 นอกจากจะเป็นพยานบอกเล่าแล้วยังไม่ชอบธรรมที่จะรับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลย ย่อมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 พยานหลักฐานอื่นนอกจากนี้ของโจทก์ก็ไม่หนักแน่นเชื่อมโยงเพียงพอที่จะรับฟังประกอบลงโทษจำเลยได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share