คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4763/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) บังคับให้ผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ถ้าผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องเป็นคนละคน ต้องแยกกันลงลายมือชื่อตามที่แบบพิมพ์คำขอท้ายคำฟ้องอาญาได้กำหนดไว้ แต่หากเป็นบุคคลเดียวกันก็ไม่จำต้องแยกลงลายมือชื่อให้ตรงแบบพิมพ์และย่อมลงลายมือชื่อไปในคราวเดียวกันโดยเติมคำว่า “และพิมพ์”ต่อท้ายคำว่าผู้เรียงได้ เมื่อเติมคำว่า “และพิมพ์” แล้ว แม้ผู้ตกเติมจะไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับข้อความที่เติมไว้ ก็ไม่ทำให้ฟ้องไม่สมบูรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนบิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 3 ปีจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกมีว่า ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง แต่ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องหาได้ลงชื่อไว้ไม่ การที่ผู้เรียงได้พิมพ์ข้อความเพิ่มเติมว่า”และพิมพ์” ต่อจากคำว่าผู้เรียงโดยมิได้ลงชื่อหรือชื่อย่อไว้ริมกระดาษแสดงข้อความตกเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15จึงถือว่าไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(7) บังคับให้ผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องลงลายมือชื่อไว้ด้วย ถ้าผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องเป็นคนละคนกันก็ย่อมแยกกันลงลายมือชื่อตามที่แบบพิมพ์คำขอท้ายฟ้องคดีอาญาได้กำหนดไว้ แต่ถ้าผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องเป็นบุคคลคนเดียวกันแล้วก็ไม่จำต้องแยกลงลายมือชื่อให้ตรงตามแบบพิมพ์นั้นโดยผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องย่อมลงลายมือชื่อไปในคราวเดียวกันโดยเติมคำว่าและพิมพ์ต่อท้ายคำว่าผู้เรียงได้ ส่วนกรณีที่ไม่มีผู้ลงลายมือชื่อกำกับคำว่า “และพิมพ์” ที่เติมไว้นั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 ซึ่งนำมาใช้ในการพิจารณาคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15มีความบัญญัติไว้ในวรรคสองว่า ถ้ามีข้อความตกเติม ให้ผู้ตกเติมลงลายมือชื่อหรือลงชื่อย่อไว้เป็นสำคัญ นั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้ผู้ตกเติมลงลายมือชื่อหรือลงชื่อย่อไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการตกเติมข้อความนั้นโดยบุคคลใดเพื่อมิให้เกิดข้อโต้แย้งต่อกันว่าได้มีการตกเติมข้อความกันขึ้นจริงหรือไม่ มิใช่เป็นบทบังคับเด็ดขาดว่า ถ้าไม่ลงลายมือชื่อผู้ตกเติมแล้ว จะมีผลเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้จากพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยว่า ในถนนซอยที่เกิดเหตุเป็นซอยแคบ มีพ่อค้าแม่ค้าตั้งแผงลอยและวางของขายกันมาก แม้จำเลยได้ขับรถยนต์โดยใช้ความเร็วต่ำก็ตามนายพนอ เจริญสุข นางนภาพร แซ่อึ้งและนายชุมพลหรือกำพร้า โกสุม พยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันว่ารถยนต์คันที่จำเลยขับก็ได้ชนผู้ตายตรงด้านหน้าซ้ายมือของตัวถังและกระจกส่องหลังด้านซ้ายมือซึ่งยืนออกนอกตัวถังกระแทกบริเวณใบหน้าของผู้ตายจนล้มลง มีโลหิตที่ปากและจมูก มีอาการหมดสติ เมื่อมีผู้นำผู้ตายส่งโรงพยาบาลสมุทรสงครามแล้วผู้ตายพูดว่า เจ็บที่อก นายแพทย์อรัญ นิพัฒน์ศิริผล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและไขข้อแห่งโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งตรวจรักษาผู้ตายในวันเกิดเหตุเบิกความว่า ได้ตรวจฟิล์มเอ็กซ์เรย์แล้วพบว่า มีรอยร้าวของกระดูกหน้าอก จึงทำรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของผู้ตายไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 ว่า กระดูกหน้าอกหัก จะใช้เวลารักษาประมาณ4 สัปดาห์ กระดูกหน้าอกของผู้ตายไม่เคยร้าวหรือหักมาก่อนลักษณะบาดแผลดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าเกิดจากการที่จำเลยขับรถยนต์โดยมิได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอแล้วเฉี่ยวหรือชนผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายล้มลงหาใช่เป็นเรื่องที่ผู้ตายเดินชนรถยนต์ที่จำเลยเป็นผู้ขับและจอดแล้วดังข้อนำสืบของจำเลยไม่ หลังเกิดเหตุแล้ว ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท กรุงเทพมหานคร แล้วออกมารักษาต่อที่บ้านของบุตรผู้ตายอีกคนหนึ่งในกรุงเทพมหานครแต่อาการไม่ดีขึ้นจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ากรุงเทพมหานคร จนถึงแก่ความตาย รวมเป็นเวลาที่ต้องรับการรักษา 39 วัน แม้นายแพทย์อรรณพ นาคปฐม ได้เบิกความว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะระบบหายใจล้มเหลว ก็เห็นได้ว่าสาเหตุเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายดังโจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า มีเหตุอันควรปรานีรอการลงโทษตามฎีกาของจำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า นายแพทย์อรรณพเบิกความว่าผู้ตายเคยรับการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อพ.ศ. 2524 ด้วยอาการลิ้นหัวใจรั่วและโรคปอด มีอาการแน่นหน้าอกเป็นประจำอาจมีอาการของหัวใจล้มเหลว ต้องกินยาอยู่เสมอ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของผู้ตายส่วนจำเลยเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอเมืองราชบุรีจังหวัดราชบุรี ได้รับราชการเป็นระยะเวลานานด้วยดีจนใกล้วาระเกษียณอายุราชการ เหตุแห่งความประมาทของจำเลยมิใช่กรณีร้ายแรง ประกอบกับจำเลยไม่เคยกระทำความผิดอาญามาก่อนกรณีจึงมีเหตุอันควรลงโทษสถานเบาและได้รับความปรานีโดยรอการลงโทษให้ แต่ควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

Share