คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านแจ้งความไปยังผู้ร้องให้ชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 วรรคแรก เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยถือได้ว่าเป็นการทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีซึ่งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เดิมเมื่อผู้คัดค้านได้แจ้งความเป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระหนี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524 ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่12 มกราคม 2522 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้อายุความจึงสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงยังไม่ขาดอายุความ และมิใช่ผู้คัดค้านเพิ่งมาใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เมื่อวันที่12 มกราคม 2537 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องให้ชำระหนี้ตามมาตรา 119 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม ใช้บังคับแก่ดอกเบี้ยที่ค้างส่งอยู่ก่อนวันฟ้อง เมื่อการแจ้งความ เป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 มีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีแล้วดอกเบี้ยภายหลังจากนั้นจึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างส่งจะใช้มาตรา 166 เดิมมาบังคับไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2523 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2523 ผู้คัดค้านได้มีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องนำเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2522 จนกว่าชำระเสร็จไปชำระต่อผู้คัดค้านภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเคยทำหนังสือค้ำประกันหนี้นายวิวัฒน์ เจริญชัยพฤกษา ต่อจำเลยเมื่อเดือนตุลาคม 2521ซึ่งหนี้ครบกำหนดชำระภายในวันที่ 12 มกราคม 2522 เมื่อจำเลยหรือผู้คัดค้านมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันทำสัญญาค้ำประกันหรือวันที่ครบกำหนดชำระหนี้ภายในเดือนตุลาคม 2531 หรือภายในวันที่ 12 มกราคม 2532หนี้จึงขาดอายุความ ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2522 เพราะเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ขอให้มีคำสั่งยกเลิกหนี้ที่ผู้คัดค้านเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ตามทางสอบสวนของผู้คัดค้านผู้ร้องได้ค้ำประกันการเล่นแชร์ของนายวิวัฒน์ เจริญชัยพฤกษาลูกหนี้ของจำเลยจำนวน 40,000 บาท เมื่อนายวิวัฒน์ยังไม่ชำระหนี้ ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระหนี้ผู้คัดค้านได้มีหนังสือเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ ส่วนดอกเบี้ยเกิดจากการผิดนัดสัญญา และเป็นการกำหนดแทนค่าเสียหายไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างส่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้คัดค้านแจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้เมื่อผู้ร้องปฏิเสธหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 22 กรกฎาคม 2524ผู้คัดค้านมิได้ดำเนินการอย่างใดกับผู้ร้องอีก เพิ่งแจ้งยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2537 เกินกำหนด 10 ปีคดีขาดอายุความ มีคำสั่งให้ยกเลิกหนี้ที่ผู้คัดค้านให้ผู้ร้องชำระหนี้เสีย
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อผู้ร้องได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524 นับแต่วันดังกล่าวจึงอยู่ระหว่างการพิสูจน์หนี้ในคดีล้มละลาย อายุความเรียกร้องย่อมสะดุดหยุดอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 178 วรรคแรกจนกว่าจะยกเลิกการล้มละลายหรือจนกว่าจะเฉลี่ยทรัพย์ได้เป็นครั้งที่สุด อายุความเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ ดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันที่ 12 มกราคม 2522ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2527 จึงค้างชำระไม่เกิน 5 ปีพิพากษากลับ ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2522จนกว่าชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้รับฟังมาจากศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องแก่ผู้ร้องให้ชำระหนี้ค้ำประกันการเล่นแชร์ของนายวิวัฒน์ เจริญชัยพฤกษา จำนวนเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2522จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ ผู้คัดค้านได้แจ้งความเป็นหนังสือฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2524 ไปยังผู้ร้องให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวต่อผู้คัดค้านภายใน 14 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือหากจะปฏิเสธหนี้ก็ให้ผู้ร้องปฏิเสธหนี้เป็นหนังสือไปยังผู้คัดค้านภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้ร้องได้รับหนังสือเมื่อวันที่29 มิถุนายน 2524 ผู้คัดค้านได้สอบสวนผู้ร้องเมื่อวันที่22 กรกฎาคม 2524 และผู้ร้องได้ทำหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อผู้คัดค้านในวันเดียวกัน จนกระทั่งวันที่ 12 มกราคม 2537ผู้คัดค้านได้มีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระหนี้จำนวน 40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย มีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องจะต้องรับผิดต่อผู้คัดค้านตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่าสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยขาดอายุความเพราะผู้คัดค้านมิได้ฟ้องหรือเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้ภายในสิบปี และผู้คัดค้านเพิ่งจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2537 จึงพ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ 12 มกราคม 2522 หรือวันที่ 20 เมษายน 2524 แล้วเห็นว่าการที่ผู้คัดค้านแจ้งความเป็นหนังสือไปยังผู้ร้องให้ชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 วรรคแรกนั้น เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยซึ่งผู้คัดค้านมีอำนาจกระทำได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล ดังจะเห็นได้จากหากบุคคลที่ได้รับคำแจ้งความไม่ปฏิเสธหนี้เป็นหนังสือภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความก็จะถือเป็นหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยอยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด และผู้คัดค้านก็ชอบที่จะมีคำขอต่อศาลให้บังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้ได้การแจ้งความเป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระหนี้จึงนับได้ว่าเป็นการทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีซึ่งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เดิม (มาตรา 193/14 ใหม่)เมื่อผู้คัดค้านได้แจ้งความเป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระหนี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524 ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 12 มกราคม 2522 อายุความเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้จึงสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524 สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงยังไม่ขาดอายุความสิบปี และมิใช่เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านเพิ่งมาใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้เมื่อวันที12 มกราคม 2537 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องให้ชำระหนี้ตามความในมาตรา 119 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ดังที่ผู้ร้องฎีกาแต่อย่างใดไม่ ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องข้อต่อมาที่ว่าการที่ศาลอุทธรณ์ให้ผู้ร้อง ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 12 มกราคม 2522จนกว่าจะเสร็จเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 (เดิม) หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่ดอกเบี้ยที่ค้างส่งอยู่ก่อนวันฟ้อง เมื่อการแจ้งความเป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระหนี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524 มีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีแล้วดอกเบี้ยภายหลังจากนั้นจึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างส่งจะใช้มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ใหม่)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share