คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2094/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือสัญญากู้เงิน มีใจความโดยสรุปว่า ในระยะ 3 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ 8.11 ต่อปีเท่านั้นจะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาเว้นแต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใดไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินหรือหลังจากนั้นก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.11 ต่อปีในระยะเริ่มแรกก็ดี ดอกเบี้ยหลังจากล่วงพ้น 3 ปีนับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ จึงเป็นดอกผลนิตินัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แต่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19ต่อปี ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยหลังจากที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด และยังอยู่ในช่วงเวลา3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงิน ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,682,051.74 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าไม่พอให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนครบ

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,525,828.54 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงิน 1,500,000 บาท อัตราร้อยละ 8.11 ต่อปี นับแต่วันที่1 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2543 อัตราร้อยละ 10.11 ต่อปี นับแต่วันที่ 29เมษายน 2543 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 และอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 22กรกฎาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 121313 ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ตามหนังสือสัญญากู้เงิน มีใจความโดยสรุปว่าในระยะ3 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ได้เพียงร้อยละ8.11 ต่อปีเท่านั้น จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่านั้นไม่ได้จนกว่าจะล่วงพ้น 3 ปีนับแต่วันที่ทำสัญญาเว้นแต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใดไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินหรือหลังจากนั้นก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.11 ต่อปี ในระยะเริ่มแรกก็ดี ดอกเบี้ยหลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แต่ดอกเบี้ยอัตราร้อย 19 ต่อปี ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยหลังจากที่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดและยังอยู่ในช่วงเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงิน ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนั้น เห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงข้นได้ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ดอกเบี้ยจำนวนนี้เป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ และเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 383 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่22 กรกฎาคม 2543 เป็นเบี้ยปรับนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นส่วนเบี้ยปรับที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดลงเหลือร้อยละ 12 ต่อปี จะเป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share