คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4757/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาถึงการชำระหนี้อีกจำนวนหนึ่งว่า โจทก์กับจำเลยตกลงให้ ส. ทำหลักฐานการชำระเงินและโจทก์จำเลยได้ลงชื่อแล้วมอบให้ ส. เก็บรักษาไว้ แต่ในชั้นสืบพยานจำเลยกลับปรากฏจากการนำสืบว่าจำเลยไปพบกับ ส. และมีการชำระเงินสดและทำหลักฐานการรับเงินเอาไว้โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปร่วมรับชำระหนี้และลงลายมือชื่อไว้ในใบรับเงินด้วย ดังเช่นข้อความในฎีกาของจำเลย ดังนั้น ฎีกาจำเลยจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นมาใหม่ในชั้นฎีกา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 144,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 130,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 เมษายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยได้ชำระหนี้ครั้งที่สามจำนวน 30,000 บาท และดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการชำระเงินครั้งที่สามในวันจดทะเบียนโอนขายที่ดินจำเลยได้ชำระเงิน 30,000 บาท และดอกเบี้ยอีก 15,000 บาทแก่โจทก์ โดยโจทก์ จำเลยภริยาโจทก์ ตกลงให้นายสนธยาทำหลักฐานการชำระเงินและโจทก์จำเลยได้ลงชื่อไว้หนังสือดังกล่าวมอบให้นายสนธยาเก็บรักษาไว้ แต่ในชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยเบิกความว่า ในวันดังกล่าวจำเลย นางทองดีภริยาโจทก์และบุตรเขยได้ไปพบนายสนธยา ไกรรณภูมิ และได้มีการต่อรองกันเหลือหนี้ที่จะต้องชำระจำนวน 45,000 บาท โดยนายสนธยาได้ชำระเงินสดแก่นางทองดีแทนจำเลยจำนวน 45,000 บาท และได้เก็บหลักฐานการรับเงินไว้ ซึ่งความไม่ปรากฏเลยว่าโจทก์ได้ไปร่วมรับชำระหนี้และลงลายมือชื่อไว้ในใบรับเงินด้วยดังเช่นข้อความในฎีกาของจำเลย อันถือเป็นข้อสำคัญของประเด็นเรื่องนี้ ดังนั้นฎีกาจำเลยจึงได้ความแตกต่างไปจากข้อนำสืบของจำเลย หรืออีกนัยหนึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นมาใหม่ในชั้นฎีกา โดยเป็นข้อที่ยังมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share