คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2640/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

จำเลยมีอาชีพรับจ้างซ่อมรถยนต์จำเลยจ้างโจทก์ให้มีหน้าที่ไปประจำอยู่ที่ยริษัทร.เพื่อตีราคาค่าซ่อมรถที่เกิดอุบัติเหตุและหาลูกค้านำรถมาซ่อมที่อยู่ของจำเลยโจทก์หาบุคคลนำรถยนต์ไปประกันกับบริษัทร.และรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยแล้วกลับนำไปใช้ส่วนตัวไม่นำส่งบริษัทร.ทำให้บริษัทร.ไม่ส่งงานให้จำเลยดังนี้เป็นการที่โจทก์ประพฤติในทางไม่สุจริตทำให้จำเลยขาดรายได้จึงมีเหตุเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์แต่การกระทำของโจทก์ไม่ต้องตามกรณีหนึ่งกรณีใดตามข้อ47แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานทั้งมิใช่การกระทำต่อจำเลยโดยตรงจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงหรือทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีจึงต้องชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าทำงานในวันหยุดและค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่ไปปฏิบัติงานที่บริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัยจำกัด ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยมีหน้าที่ประเมินราคาค่าซ่อมรถยนต์ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตโดยรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์แล้วไม่ส่งให้บริษัทรัตนโกสินทร์ฯ ทำให้บริษัทรัตนโกสินทร์ฯ ระงับการส่งรถเข้าซ่อมที่อู่ของจำเลยทำให้จำเลยต้องเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นให้ยก โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยมีอาชีพรับจ้างซ่อมรถยนต์จำเลยจ้างโจทก์ให้มีหน้าที่ไปประจำอยู่ที่บริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัดเพื่อตีราคาค่าซ่อมรถที่เกิดอุบัติเหตุและหาลูกค้านำรถมาซ่อมที่อู่ของจำเลยโจทก์หาบุคคลนำรถยนต์ไปประกันภัยกับบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัดและรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยมาแล้ว กลับนำไปใช้ส่วนตัวไม่นำส่งต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด เป็นการประพฤติในทางไม่สุจริตเป็นเหตุให้บริษัทนั้นห้ามไม่ให้พนักงานส่งงานให้จำเลยรับจ้าง และทำให้จำเลยขาดรายได้เป็นจำนวนมากจึงมีเหตุเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่ต้องตามกรณีหนึ่งกรณีใดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ทั้งมิใช่เป็นการกระทำต่อจำเลยโดยตรง จึงมิใช่การกระทำความผิดอย่างร้ายแรงหรือทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีจึงต้องชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share