แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้บอกกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนนั้น เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องชัดเจนว่าจำเลยได้ตัดต้นอ้อยออกจากที่ดินโจทก์ไปขายหมดแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมคืนที่ดินให้แก่โจทก์ที่จำเลยให้การว่าตามฟ้องระบุว่ายังมีต้นอ้อยอยู่ในที่พิพาทจึงเป็นการบิดเบือนและที่จำเลยอ้างว่าโจทก์บอกกล่าวมิชอบด้วยกฎหมายและไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยก็อาศัยเหตุว่ามีต้นอ้อยอยู่ในที่พิพาทเป็นหลัก เมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทอีกทั้งจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเป็นสาระแก่คดีที่ควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคหนึ่ง ด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่1466 เมื่อปี พ.ศ. 2518 จำเลยได้ขออาศัยที่ดินแปลงดังกล่าวทางด้านทิศเหนือเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน จากโจทก์เพื่อปลูกพืชผลทางการเกษตร โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอาศัยที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป จึงได้แจ้งให้จำเลยรื้อถอนพืชผลของจำเลยออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกการให้อาศัยจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าว และจำเลยได้ตัดต้นอ้อยออกจากที่ดินโจทก์ไปขายหมดแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมคืนที่ดินให้แก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะหากให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าปีละ 2,600 บาท ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531 โจทก์ทราบว่าเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2531 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินในส่วนที่อาศัยเป็นเวลา 13 ปีเศษจนจำเลยได้กรรมสิทธิ์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จำเลยกระทำดังกล่าวโดยเจตนาฉ้อโกงโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1046/2531 และพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1466เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ 2,600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1466ตำบลหนองกลางนา อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายฝากให้แก่นายสมศักดิ์ ลิ้มตระกูล แล้วจำเลยไม่มีเงินไถ่นายสมศักดิ์ได้ขยายกำหนดเวลาไถ่ให้ จำเลยจึงไปหาโจทก์ซึ่งเป็นญาติภริยาให้นำเงินไปไถ่ โดยตกลงกันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยส่วนที่ดินที่เหลือเป็นของโจทก์ จำเลยจึงพาโจทก์ไปพบนายสมศักดิ์และได้พากันไปทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี โจทก์ลงชื่อในโฉนดที่ดินเพียงคนเดียวโดยอ้างว่าจะแบ่งแยกให้จำเลยในภายหลัง หลังจากนั้นจำเลยได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยเคยขอให้โจทก์แบ่งแยกโฉนดแต่โจทก์เพิกเฉยจำเลยจึงยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้จำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายสมศักดิ์เป็นเงิน 50,000 บาท แต่ได้จดทะเบียนการซื้อขายเพียง 40,000 บาท โจทก์ได้ให้จำเลยอาศัยทำกินในที่ดินพิพาทจำเลยจึงครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์จำเลยไม่เคยขอลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันกับโจทก์ในที่ดินแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1046/2531 ของศาลชั้นต้นและให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1466 พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าว และห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงนี้อีกต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ 2,600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยกับบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท กับให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยซึ่งอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายประการเดียวว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้บอกกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนนั้น เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องชัดเจนว่า จำเลยได้ตัดต้นอ้อยออกจากที่ดินโจทก์ไปขายหมดแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมคืนที่ดินให้แก่โจทก์ที่จำเลยให้การว่าตามฟ้องระบุว่ายังมีต้นอ้อยอยู่ในที่พิพาทจึงเป็นการบิดเบือน และที่จำเลยอ้างว่าโจทก์บอกกล่าวมิชอบด้วยกฎหมายและไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยก็อาศัยเหตุว่ามีต้นอ้อยอยู่ในที่พิพาทเป็นหลัก เนื่องจากศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทอีกทั้งจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเป็นสาระแก่คดีที่ควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ด้วยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลย