คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อสิทธิบัตรของโจทก์จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้ว่าสิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์พร้อมกับฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสี่ยกความไม่สมบูรณ์ในสิทธิบัตรของโจทก์ขึ้นอ้าง ตามมาตรา 64 วรรคสอง แห่ง พระราชบัญญัติสิทธิบัตรฯ ภาระการพิสูจน์ว่าสิทธิบัตรของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ย่อมตกอยู่แก่จำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่บรรยายฟ้องแย้งว่าผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับสิทธิบัตรจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ได้รับสิทธิบัตรมีการใช้กันแพร่หลายในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ผลิตภัณฑ์ของโจทก์จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่บรรยายแจ้งชัดแล้วว่าสิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์เพราะเหตุใด ไม่เคลือบคลุม การฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรเพราะเป็นสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์เป็นการฟ้องโดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติสิทธิบัตรฯมาตรา 64 วรรคสอง ไม่ใช่การฟ้องเนื่องจากมูลละเมิด ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งมีกำหนดไว้ 10 ปี แบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ไม่ใช่เป็นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะนำไปยื่นรับคำขอสิทธิบัตรจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตามมาตรา 56,57 แห่ง พระราชบัญญัติสิทธิบัตรฯ สิทธิบัตรของโจทก์ที่กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์รับจดทะเบียนไว้จึงไม่สมบูรณ์จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจฟ้องและขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันผลิตสินค้าเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ายี่ห้อ “ไอ-ที-เซฟ” โดยรูปแบบผลิตภัณฑ์สินค้าของจำเลยทั้งสี่มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันหรือเกือบเหมือนกันกับรูปแบบของผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน มีข้อความตามที่ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องโดยให้ลงโฆษณาฉบับละ 3 วัน ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง หรือโจทก์เป็นผู้ดำเนินการด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินวันละ 136,981.63 บาทแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะหยุดการผลิตโฆษณาและจำหน่ายสินค้าเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสี่หยุดการผลิต โฆษณา และจำหน่ายหรือการกระทำอื่นใดที่ใช้รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เลียนแบบเหมือนกันหรือเกือบเหมือนกับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่โจทก์จดทะเบียนไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์ เลขที่สิทธิบัตร 389
จำเลยทั้งสี่ให้การและฟ้องแย้งในทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำตามฟ้อง จำเลยที่ 3ผลิตเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นแบบทั่ว ๆ ไป โดยสุจริตตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 ลักษณะของผลิตภัณฑ์ของจำเลยแตกต่างกับของโจทก์อย่างเห็นได้ชัด ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ายี่ห้อ “ไอ-ที-เซฟ” แต่เป็นเพียงผู้ขายสินค้าดังกล่าวโดยสุจริตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ก่อนวันที่โจทก์ขอรับสิทธิบัตรโดยไม่ทราบว่าโจทก์ได้ขอรับสิทธิบัตรเมื่อใดจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ได้รับสิทธิบัตรได้มีการใช้หรือใช้แพร่หลายอยู่ในราชอาณาจักร และเคยเผยแพร่ภาพสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ของโจทก์ จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่และไม่สามารถจะขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรที่โจทก์ได้รับจึงไม่สมบูรณ์ขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ทำให้จำเลยทั้งสี่ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและขาดความเชื่อถือในวงการค้าจากบุคคลทั่วไป จึงขอให้ศาลบังคับให้โจทก์โฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์ ตามข้อความที่ระบุไว้ในคำขอของฟ้องแย้ง โดยค่าใช้จ่ายของโจทก์เอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่เคลือบคลุมเพราะมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ทำให้จำเลยทั้งสี่เสื่อมเสียชื่อเสียงขาดความเชื่อถือจากบุคคลทั่วไปอย่างไร และโจทก์จงใจประมาทเลินเล่อทำต่อจำเลยทั้งสี่โดยผิดกฎหมายอย่างไร การออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นเป็นอย่างไรจำเลยทั้งสี่ทราบถึงการขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแต่จำเลยทั้งสี่เพิ่งนำคดีมาฟ้องแย้งโจทก์ในวันที่ 9ธันวาคม 2530 ล่วงเลยเวลา 1 ปี ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ขาดอายุความสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ได้รับมาเป็นสิทธิบัตรที่ออกโดยชอบและเป็นสิทธิบัตรที่สมบูรณ์ ขอให้พิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสี่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์และให้เพิกถอนสิทธิบัตร เลขที่ 389 ของโจทก์เสีย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 3,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามลำดับ โจทก์ได้ขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้ายี่ห้อเซฟ-ที-คัท รุ่นสเปเชียล เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2528 และอธิบดีกรมทะเบียนการค้าได้ออกสิทธิบัตรเลขที่ 389 ให้โจทก์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2529 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกซึ่งฎีกาว่าในประเด็นว่าสิทธิบัตรของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ ศาลชั้นต้นจะต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสี่มีภาระการพิสูจน์และหน้าที่นำสืบก่อนมิใช่ว่าให้ตกเป็นภาระและหน้าที่ของโจทก์นั้น เห็นว่า ในประเด็นนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อสิทธิบัตรของโจทก์จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้ว่าสิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์พร้อมกับฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสี่ยกความไม่สมบูรณ์ในสิทธิบัตรของโจทก์ขึ้นอ้างตามบทบัญญัติมาตรา 64 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522ภาระการพิสูจน์ว่าสิทธิบัตรของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ย่อมตกอยู่แก่จำเลยทั้งสี่ จำเลยทั้งสี่จึงมีหน้าที่นำสืบก่อนในประเด็นนี้แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนหลายประเด็น ประกอบกับโจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างนำพยานหลักฐานเข้าสืบมาด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายนำสืบก่อนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นหากจะพิจารณาวินิจฉัยคดีต่อไปก็ไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ฉะนั้นศาลฎีกาจะได้ดำเนินการพิจารณาต่อไปตามรูปคดีที่จำเลยทั้งสี่เป็นฝ่ายนำสืบก่อน โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาใหม่
ปัญหาข้อที่สอง ฟ้องแย้งเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสี่ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์นั้น จำเลยทั้งสี่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ผลิตภัณฑ์ที่จะได้รับสิทธิบัตรจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ได้รับสิทธิบัตรมีการใช้หรือใช้กันแพร่หลายในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ผลิตภัณฑ์ของโจทก์จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ คำบรรยายฟ้องแย้งในส่วนนี้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ้งชัดแล้วว่า สิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์เพราะเหตุใด ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ที่กล่าวหาว่าโจทก์กระทำละเมิดให้จำเลยทั้งสี่ได้รับความเสียหาย เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ในส่วนนี้ไปแล้ว และจำเลยทั้งสี่ก็มิได้อุทธรณ์ฎีกาในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงยุติ ศาลฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้อีก
ปัญหาข้อที่สาม ฟ้องแย้งขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสี่ฟ้องแย้งโดยอาศัยมูลเหตุละเมิด จึงมีอายุความเพียง1 ปีนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสี่ฟ้องแย้งขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์เพราะเป็นสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์เป็นการฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 64 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522ไม่ใช่เป็นการฟ้องเนื่องจากมูลละเมิด แต่อายุความเกี่ยวกับอำนาจฟ้องดังกล่าว ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 164 ซึ่งกำหนดอายุความไว้ 10 ปีฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อต่อไป สิทธิบัตรของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อนี้ว่า พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสี่นำสืบฟังไม่ได้ว่า แบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้ายี่ห้อ เซฟ-ที-คัท รุ่นสเปเชียล ของโจทก์เป็นแบบผลิตภัณฑ์มีการใช้หรือใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักร และมีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งตีพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันที่โจทก์ขอรับสิทธิบัตร สิทธิบัตร รูปแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์จึงสมบูรณ์นั้น เห็นว่า จำเลยมีนายกำธร สันติพรวิทย์ ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทเซฟเฟอร์ จำกัด มาเป็นพยานเบิกความว่า พยานเคยซื้อเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ายี่ห้อ เซฟ-ที-คัท รุ่นสเปเชียล มาใช้ที่บ้านตั้งแต่ปี 2526 ทั้งนายทวี ฉัตรธิรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัททวีภัณฑ์อีเล็คทริค จำกัด พยานโจทก์เองก็เบิกความตอบทนายจำเลยค้านรับว่า บริษัทของพยานซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ได้จำหน่ายเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ายี่ห้อเซฟ-ที-คัท รุ่นสเปเชียล มาเป็นเวลา 12-13 ปีแล้ว ตามคำของนายทวีไม่ได้ระบุว่า เครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารุ่นสเปเชียลดังกล่าวแตกต่างกับรุ่นสเปเชียลที่โจทก์นำไปขอรับสิทธิบัตรในภายหลัง จึงน่าเชื่อว่าเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์รุ่นสเปเชียลที่ผลิตจำหน่ายมาก่อนนำไปขอรับสิทธิบัตรกับรุ่นสเปเชียลที่นำไปขอรับสิทธิบัตรเป็นรุ่นเดียวกันและมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกันด้วย นอกจากนั้น จำเลยทั้งสี่ยังนำสืบได้ว่า โจทก์ได้ลงโฆษณาเผยแพร่ภาพ และระบุรายละเอียดสาระสำคัญของเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ดังกล่าวก่อนวันที่โจทก์ไปขอรับสิทธิบัตร กล่าวคือ ได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2526 ตามเอกสารหมาย ล.7 ในหนังสือพิมพ์นิตยสารคู่แข่ง ฉบับเดือนตุลาคม 2527 ตามเอกสารหมาย ล.8 และในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ตามเอกสารหมาย ล.9 ศาลฎีกาได้ตรวจภาพถ่ายโฆษณาเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ายี่ห้อ เซฟ-ที-คัท ของโจทก์ในเอกสารต่าง ๆดังกล่าว เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารุ่นสเปเชียลซึ่งผลิตตามสิทธิบัตรของโจทก์ตามวัตถุพยาน หมาย จ.8 แล้ว ปรากฏว่ามีรูปร่าง ลักษณะของแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกัน ฝ่ายโจทก์เพียงแต่นำสืบลอย ๆ ว่า เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ตามวัตถุพยานหมายจ.8 เป็นสินค้ารุ่นใหม่ ทั้งไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่ารูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าที่โจทก์เคยโฆษณาและผลิตออกจำหน่ายมาก่อนแล้วเป็นเวลาหลายปีแตกต่างกับรูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าที่โจทก์นำไปขอรับสิทธิบัตรและได้รับสิทธิบัตรมาแล้วอย่างไร พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบว่าแบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ไม่ใช่เป็นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะนำไปยื่นรับคำขอสิทธิบัตรจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตามมาตรา 56, 57 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 สิทธิบัตรของโจทก์ที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์รับจดทะเบียนไว้จึงไม่สมบูรณ์ จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าเช่นเดียวกับโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรได้ เมื่อคดีฟังได้ว่าสิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องย่อมไม่เป็นการล่วงสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและห้ามจำเลยทั้งสี่ใช้แบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าตามที่โจทก์ฟ้อง คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างในฎีกาเป็นเรื่องกระทำละเมิดต่อเครื่องหมายการค้า ไม่ใช่กระทำละเมิดต่อสิทธิบัตร รูปคดีไม่ตรงกัน และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งหมดฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share