คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ช. แล้วเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 1 ระบุให้บริษัท ช. เป็นผู้รับประโยชน์ มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ก่อนบริษัท ช. แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์ รถที่เช่าซื้อสูญหายไป และโจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 โดยตรงแล้ว จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาประกันภัยเปลี่ยนแปลงข้อตกลงระหว่างกันแล้ว โจทก์ที่ 1 ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามมาตรา 880 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในนามของตนเองจากลูกหนี้ของโจทก์ที่ 2 ได้ตามมาตรา 226 ส่วนโจทก์ที่ 2 ซึ่งฝากรถยนต์ไว้กับจำเลยและรถหายไป ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนที่ยังขาดอยู่จากจำเลยได้
ปั๊มของจำเลยปฏิบัติต่อลูกค้ามีพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยยอมรับรถจากผู้อื่นมาอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ปั๊มนั้น จึงเป็นลักษณะรับฝากทรัพย์ตามมาตรา 657 ไม่ใช่ให้เช่าสถานที่เพื่อจอดรถ
ร. นำรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ไปทดลองขับดูก่อนที่จะซื้อและได้นำไปจอดฝากไว้กับจำเลย ถือได้ว่า ร. เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 2 โดยปริยาย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทเซสแมนฮัตตันฯ จำกัด แล้วเอาประกันภัยไว้กับบริษัทโจทก์ที่ 1 โดยระบุในกรมธรรม์ประกันภัยให้เจ้าของรถยนต์คันพิพาทเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการประกัน ต่อมารถดังกล่าวหายไปจากปั๊มน้ำมันของจำเลย และโจทก์ที่ 1 ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน160,000 บาท ครบตามสัญญาโจทก์ที่ 1 จึงฟ้องไล่เบี้ย และโจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่เอากับจำเลย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 160,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 60,000 บาทกับดอกเบี้ย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาจากบริษัทเซสแมนฮัตตัน อินเวสเมนต์ (ประเทศไทย) จำกัด ในราคา 287,800 บาท ปรากฏตามสำเนาสัญญาเช่าซื้อท้ายบัญชีระบุพยานโจทก์สารบาญอันดับที่ 42 แล้วโจทก์ที่ 2 ได้ประกันภัยรถยนต์คันพิพาทไว้กับบริษัทสินสวัสดิ์ประกันภัย จำกัดโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2517 เป็นเงิน 160,000 บาท ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.1 โดยระบุในกรมธรรม์ประกันภัยให้เจ้าของรถยนต์คันพิพาทเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการประกัน ต่อมาเดือนธันวาคม 2517รถยนต์คันพิพาทได้หายไปจากปั๊มน้ำมัน “สถานีบริการเชลล์-เสสะเวช” ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเพชรบุรี-อโศกบริการ จำเลย ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 160,000 บาทครบตามสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงฟ้องไล่เบี้ยและโจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่ เอากับจำเลยเป็นคดีนี้

คดีมีปัญหาว่า โจทก์ทั้งสองีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยรับฝากรถยนต์คันพิพาทนี้หรือไม่ ค่าเสียหายมีเพียงใด

ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ที่ 2 ซึ่งมิใช่เจ้าหนี้จึงไม่เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยรายนี้ต้องถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 เป็นคู่สัญญาประกันภัยกันโดยตรงส่วนบริษัทเซสแมนฮัตตัน อินเวสเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด นั้นเป็นบุคคลภายนอกผู้ที่จะได้รับประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374แต่ไม่ปรากฏว่าบริษัทเซสแมนฮัตตันฯ ได้แสดงเจตนาที่จะเข้ามาถือเอาประโยชน์ดังนั้นตราบใดที่บุคคลภายนอกยังไม่ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญาเพื่อรับประโยชน์ สิทธิของบุคคลภายนอกจึงมิได้เกิดมีขึ้น คู่สัญญาประกันภัยก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของบุคคลภายนอกนั้นในภายหลังได้ ดังนี้การที่โจทก์ที่ 1 ลูกหนี้ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 โดยตรง และโจทก์ที่ 2 ยอมรับชำระหนี้นั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่คู่สัญญาประกันภัยได้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงระหว่างกันแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ที่ 2 แล้ว โจทก์ที่ 1 ก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามมาตรา 880 และมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในนามของตนเองจากลูกหนี้ของโจทก์ที่ 2 ได้ตามมาตรา 226 ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้อ้างว่า โจทก์และตัวแทนของโจทก์ฝากรถยนต์คันพิพาทไว้กับจำเลย ดังนั้นเมื่อรถยนต์คันพิพาทหายไปในระหว่างที่รถยนต์นั้นอยู่ในอารักขาของจำเลย โจทก์ที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้” ฯลฯ

“ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า นายไพโรจน์นำรถยนต์คันพิพาทมาจอดที่ปั๊มน้ำมันจำเลยในวันเกิดเหตุแล้วหายไปจริง ปัญหาต่อไปมีว่านายไพโรจน์ฝากหรือเช่าสถานที่จอดรถกับปั๊มน้ำมันของจำเลย ได้พิจารณาพยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว นายไพโรจน์เบิกความว่า พยานเอารถยนต์เข้าบ้านไม่ได้ จึงนำรถทั้งสามคันรวมทั้งคันพิพาทไปฝากไว้ที่ปั๊มจำเลย เสียค่าฝากเดือนละ 150 บาทต่อคันการฝากฝากด้วยวาจา ชั้นแรกได้ไปพูดฝากกับผู้จัดการปั๊มจำเลยเสียก่อน บริเวณปั๊มเป็นลานโล่ง ๆ รถจอดได้ทั่วไปสุดแต่ว่างที่ใด นางจินตนา แก้วโกเมน พยานโจทก์ก็เบิกความว่าเคยนำรถมาฝากที่ปั๊มน้ำมันจำเลยเช่นกัน พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนกันมีน้ำหนักน่าเชื่อได้ ประกอบกับนายสมศักดิ์ เสสะเวช พยานจำเลยเบิกความว่า ในทางปฏิบัติ ปั๊มจำเลยให้ลูกค้าของตนจอดรถในบริเวณปั๊มโดยคิดค่าจอดและรับว่ารถยนต์ 2 คันของนายไพโรจน์ก็มาจอดที่ปั๊มของจำเลยศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการฝากเป็นหนังสือผูกมัดจำเลยก็ตามแต่ที่ปั๊มจำเลยปฏิบัติต่อนายไพโรจน์และลูกค้ารายอื่นเป็นพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยยอมรับรถจากผู้อื่นมาอยู่ในความอารักขาของจำเลยที่ปั๊มนั้น เป็นลักษณะรับฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 หาใช่ให้เช่าสถานที่เพื่อจอดรถดังจำเลยฎีกาไม่ และในกรณีที่นายไพโรจน์นำรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ไปฝากไว้กับจำเลยเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่านายไพโรจน์เป็นตัวแทนของโจทกืที่ 2 โดยปริยายแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์”

พิพากษายืน

Share