คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อของตนโดยมิได้เขียนแถลงว่า กระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งลงไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยจะอ้างว่าตนกระทำแทนบุคคลอื่นและขอนำพยานเข้าสืบประกอบข้ออ้างของตนหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ไว้ ๑ ฉบับสัญญาว่าจะชำระเงิน ๑๘,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปีให้โจทก์หรือตามคำสั่ง ในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๐๙ ณ ภูมิลำเนาของผู้รับเงินจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ร่วมกันรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้ ถึงกำหนดจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ใช้เงินในฐานะผู้รับอาวัลแล้ว จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินตามตั๋วกับดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวม ๒๑,๗๑๐ บาท กับดอกเบี้ยแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารท้ายฟ้องจริง โดยกระทำการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ ๑ ในห้างหุ้นส่วนไม่จดทะเบียนสหมิตร์การช่าง มีจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เงินจำนวนนี้ห้างหุ้นส่วนสหมิตร์การช่างนำไปใช้ในกิจการรับเหมาก่อสร้าง เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับอาวัลจึงต้องชำระหนี้รายนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๔๐ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จะไล่เบี้ยเอากับหุ้นส่วนอย่างไรก็ทำได้ โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องเอาจากตัวการโดยตรง
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การต้องกันว่า ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์แต่ขอให้บังคับเอากับจำเลยที่ ๑ ก่อน จำเลยที่ ๑ มีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ได้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ รับอาวัลเป็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับกิจการของห้างหุ้นส่วน
วันชี้สองสถาน จำเลยที่ ๑ แถลงว่า ที่ว่าจำเลยที่ ๑ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ นั้น คือ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ วานให้จำเลยที่ ๑ กู้เงินให้ห้างหุ้นส่วนสหมิตร์การช่างไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ไปทำตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์ ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๑๘,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ย ๓,๗๑๐ บาท รวม ๒๑,๗๑๐ บาท ให้โจทก์กับชำระดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปี ในต้นเงิน ๑๘,๐๐๐ บาทจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา ข้อ ๑ จำเลยที่ ๑ ออกตั๋วใช้เงินแทนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เพื่อให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เอาเงินไปใช้ในกิจการของห้างหุ้นส่วนสหมิตร์การช่างศาลจึงควรให้จำเลยที่ ๑ สืบพยานในข้อนี้เพื่อว่าเมื่อคดีถึงที่สุด จำเลยที่ ๑ จะได้ออกเงินใช้โจทก์ไปเท่าใด จำเลยที่ ๑ จะได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับหุ้นส่วนได้ ข้อ ๒ โจทก์ผู้ทรงตั๋วเงินรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เท่ากับโจทก์ได้รู้ถึงข้อบกพร่องอันเกิดแก่ตั๋วเงินแล้วกลับยอมรับเอาตั๋วเงินนั้นไว้ ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงใช้ยันโจทก์ได้ โดยถือว่าตั๋วเงินนั้นมีข้อบกพร่องหรือมีการรอนสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อ ๑ ว่า เรื่องที่จำเลยที่ ๑ จะได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้ใด ไม่เกี่ยวกับคดีเรื่องนี้ ปัญหาในคดีเรื่องนี้คงมีแต่เพียงว่าเมื่อจำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินโดยมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง จำเลยที่ ๑ ย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น (ป.พ.พ. มาตรา ๙๐๑) จำเลยที่ ๑ จะอ้างว่าตนกระทำแทนบุคคลอื่นและขอนำพยานเข้าสืบประกอบข้ออ้างของตนหาได้ไม่
ฎีกาข้อ ๒ จำเลยที่ ๑ มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จะยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรค ๑
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๖๐๐ บาทแทนโจทก์

Share