แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จะกู้ยืมเงินหรือรับเงินออมจากประชาชนได้จะต้องปฏิบัติอยู่ในกรอบกำหนดกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 4,27และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2528 ข้อ 2(2) ข้อ 3(1) การที่จำเลยที่ 2ที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 รับฝากเงินจากโจทก์แล้วมิได้ออกเอกสารการกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์และไม่ใช่เพื่อการพัฒนาหรือการเคหะ แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ แต่ก็ไม่มีตราของจำเลยที่ 1 ประทับไว้ จึงมิได้เป็นการสั่งจ่ายเช็คในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามบทกฎหมายและประกาศดังกล่าวจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ตามพฤติการณ์ที่พนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการรับฝากเงินจากโจทก์ณ สำนักงานของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่าการรับฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยที่ 1ที่กระทำได้ตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 โดยรับฝากเงินแล้วออกเป็นเช็คให้เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อรับฝากเงินและรู้เห็นเอง โดยจำเลยที่ 1เชิดจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการในการรับฝากเงินและออกเช็คให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันรับเอาผลการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินที่รับฝากพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ การกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 แล้วยกเสีย มิใช่กรณีที่ศาลสั่งไม่รับฟ้องแย้งซึ่งจะต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 แต่จะต้องบังคับตามมาตรา 161 ซึ่งศาลใช้ดุลพินิจไม่คืนค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะ รวมตลอดถึงการรับฝากเงินจากประชาชนโดยให้ดอกเบี้ยและให้กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นกรรมการร่วมกันกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์ได้นำเงินจำนวน 150,000 บาท ไปฝากจำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารจำนวนเงิน 150,000 บาท ในนามของจำเลยที่ 1 เป็นการชำระหนี้เงินฝากคืนให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมและยอมให้จำเลยที่ 2 ที่ 3กระทำแทนเสมอด้วยตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ต่อมาเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์รวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 168,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับฝากเงินโจทก์ เช็คดังกล่าวจำเลยที่ 2 ที่ 3 ออกเพื่อใช้ในกิจการส่วนตัวมิได้ประทับตราจำเลยที่ 1 จึงไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากเงินจากประชาชน จำเลยที่ 2 ที่ 3มิได้กระทำภายในขอบอำนาจวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ไม่เคยมอบให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิด และไม่เคยให้สัตยาบันในการรับฝากเงินดังกล่าวด้วย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ทำให้จำเลยที่ 1 เสียชื่อเสียงและเสียค่าใช้จ่ายในการทำความเข้าใจกับประชาชน ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 กับให้โจทก์ประกาศแจ้งความจริงขอขมาจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม โจทก์ฟ้องคดีเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริต จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 2 ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์ได้นำเงินจำนวน 150,000 บาท ไปฝากที่สำนักงานของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1รับฝากเงินไว้โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ออกเช็คธนาคารมหานคร จำกัดสำนักงานใหญ่ เลขที่ เอช โอ อี 260230 ลงวันที่ 28 เมษายน 2527จำนวนเงิน 150,000 บาท โดยมิได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินฝากคืนแก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3รับฝากเงินในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติการประกอบการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ธุรกิจเงินทุน หมายความว่า ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้ฯลฯ (2) กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา ฯลฯ (4) กิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ ฯลฯ กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะหมายความว่า กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชนและมาตรา 27บัญญัติ ว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนในเรื่องดังต่อไปนี้… (3) หลักเกณฑ์และวิธีการในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชน” นอกจากนี้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2528 ได้กำหนดไว้ว่า”ข้อ 2 ในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติดังต่อไปนี้… (2) ออกเอกสารการกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ให้กู้โดยไม่จ่ายส่วนลด ข้อ 3 ให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือรับจากประชาชนดังต่อไปนี้ (1) เงินกู้ยืมหรือรับจากประชาชนที่มีกำหนดเวลาใช้คืนตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันขึ้นไป ที่มีข้อกำหนดไม่ให้ไถ่ถอนก่อนกำหนดเวลาและที่มีจำนวนเงินตั้งแต่ห้าหมื่นบาทขึ้นไปสำหรับบริษัทเงินทุนและสาขาที่มีสำนักงานในเขตกรุงเทพมหานคร… จ่ายดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าต่อปี” จากบทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะกู้ยืมเงินหรือรับเงินออมจากประชาชนจะต้องปฏิบัติอยู่ในกรอบกำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ เห็นว่า เช็คพิพาทที่โจทก์รับมาจากสำนักงานของจำเลยที่ 1 คงมีแต่ลายมือชื่อจำเลย ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายหาได้มีตราของจำเลยที่ 1ประทับไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อสั่ง จ่ายเช็คพิพาทในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามบทกฎหมายและประกาศดังกล่าว กล่าวคือ จำเลยที่ 2 และที่ 3รับฝากเงินจากโจทก์แล้วมิได้ออกเอกสารกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์และไม่ใช่เพื่อการพัฒนาหรือการเคหะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการนอกขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และฝ่าฝืนบทกฎหมายและประกาศดังกล่าว จำเลยที่ 1ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีปรา กฏว่าโจทก์นำเงินจำนวน 150,000 บาท ไปฝาก ณ สำนักงานของจำเลยที่ 1 โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ใช้สำนักงานของตนเป็นสถานที่รับฝากเงินหากจำเลยที่ 1 รับฝากเงินไม่ได้เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ กับพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 8และอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 พนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 3 ควรจะแจ้งให้โจทก์ทราบ แต่บุคคลดังกล่าวกลับรับฝากเงินของโจทก์ไว้ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่าการรับฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยที่ 1ที่กระทำได้ตามกฎหมายและอยู่ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 โดยรับฝากเงินแล้วออกเป็นเช็คพิพาทให้ ระหว่างฝากเงินจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังส่งปฏิทินบัตรของขวัญ และกระเป๋าใส่กุญแจของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ในกิจการนี้ ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อรับฝากเงินและรู้เห็นเองโดยจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการในการรับฝากเงินและออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันรับเอาผลการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3ไว้ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับเงินฝากคืน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินที่รับฝากไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคแรก บัญญัติว่า”ภายใต้บังคับบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีแต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงหรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตาส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายใดเสียไปก็ได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้หรือดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง”แสดงว่าการกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจของศาล ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 แล้วยกเสียจึงมิใช่กรณีที่ศาลสั่งไม่รับฟ้องแย้งซึ่งจะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151แต่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติตามมาตรา 161 กล่าวคือ ศาลใช้ดุลพินิจไม่คืนค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 ได้
พิพากษายืน.