คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6182/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามวางกัญชาแห้งอัดแท่งของกลางไว้ที่พื้นวางเท้าหลังเบาะคนขับรถยนต์กระบะ โดยมิได้ใช้รถยนต์กระบะเป็นที่ซุกซ่อนกัญชาแห้งอัดแท่งดังกล่าวรถยนต์กระบะจึงมิใช่ยานพาหนะซึ่งจำเลยทั้งสามได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถ่านโทรศัพท์ กุญแจรถยนต์ กุญแจล็อกรถ และพวงกุญแจ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้ฟังว่าเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 อีกทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดมีไว้เป็นความผิดหรือได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาโดยได้กระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 4, 7, 8, 26, 76, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และริบของกลาง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกัญชาแห้งอัดแท่ง อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวน 3 แท่ง หนัก 3.2 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำเบิกความของพันตำรวจโทเฉลิมวัฒน์ เดชาสุภากุล กับจ่าสิบตำรวจสหัส เยี่ยมสาร เกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มกัญชาแห้งอัดแท่งจำนวน 3 แท่ง ของกลางแตกต่างกัน และการตรวจค้นพบกัญชาแห้งอัดแท่งของกลางก็มิได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 1 อีกทั้งจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม พยานหลักฐานโจทก์จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองต่างเป็นเจ้าพนักงานเบิกความให้ข้อเท็จจริงสอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญ เริ่มจากได้สืบทราบมาก่อนแล้วว่ามีคนร้าย 3 คน ลักลอบขนกัญชาไปส่งให้แก่ลูกค้าที่บริเวณท่าแพใหม่ไต๋อี๊ด ตำบลตำมะลัง โดยใช้รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1 ท – 6323 สงขลา เป็นยานพาหนะ พันตำรวจโทเฉลิมวัฒน์วางแผนจับกุมโดยไปดักรอที่บริเวณสามแยกบ้านเกาะนก เมื่อเห็นรถยนต์กระบะคันดังกล่าวแล่นจากเขตเทศบาลเมืองสตูล มุ่งหน้าไปตำบลตำมะลัง เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามไป ครั้นรถยนต์กระบะแล่นเข้าจอดที่บริเวณท่าแพใหม่ไต๋อี๊ด เจ้าพนักงานตำรวจก็แสดงตนและขอตรวจค้นจำเลยทั้งสาม การตรวจค้นได้พบกัญชาแห้งอัดแท่งจำนวน 3 แท่ง อยู่ภายในรถจึงยึดเป็นของกลาง เจ้าพนักงานตำรวจสอบถามจำเลยที่ 1 กับพวกก็ปฏิเสธเพียงว่าไม่ทราบว่าเป็นกัญชาของผู้ใด โดยมิได้โต้แย้งว่าเจ้าพนักงานตำรวจมิได้ตรวจค้นพบกัญชาแห้งอัดแท่งของกลางดังกล่าวภายในรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 กับพวกใช้เป็นยานพาหนะ พันตำรวจโทเฉลิมวัฒน์กับพวกได้จัดทำบันทึกการจับกุมซึ่งระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏไว้ตามเอกสารหมาย จ.9 และควบคุมตัวจำเลยที่ 1 กับพวกส่งร้อยตำรวจโทจอม สิงห์น้อย พนักงานสอบสวนคดีนี้ ร้อยตำรวจโทจอมเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าได้รับตัวจำเลยที่ 1 กับพวกพร้อมของกลางตั้งแต่คืนเกิดเหตุ ร้อยตำรวจโทจอมจัดทำแผนผังจุดที่จำเลยที่ 1 กับพวกนั่งอยู่ภายในรถยนต์กระบะคันดังกล่าว รวมทั้งจุดที่กัญชาแห้งอัดแท่งจำนวน 3 แท่ง ของกลางวางอยู่ตามบันทึกการแจ้งข้อหาเอกสารหมาย จ.11 แผ่นที่ 2 จำเลยที่ 1 ก็ลงลายมือชื่อรับว่าถูกต้อง อีกทั้งได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุทั้งสองฉบับ รวมทั้งภาพถ่ายประกอบสำนวนการสอบสวนหมาย จ.5 ถึง จ.7 ในการนำสืบต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1มิได้นำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบกัญชาแห้งอัดแท่งจำนวน 3 แท่งของกลางภายในรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 โดยนำสืบต่อสู้ในทำนองว่าไม่ทราบว่ากัญชาแห้งอัดแท่งจำนวน 3 แท่ง ของกลางอยู่ในรถของตนเท่านั้น ดังนี้ แม้พันตำรวจโทเฉลิมวัฒน์เบิกความว่าวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มกัญชาแห้งอัดแท่งดังกล่าวเป็นถุงสีน้ำตาลแต่จ่าสิบตำรวจสหัสเบิกความว่ากัญชาแห้งอัดแท่งของกลางห่อด้วยพลาสติก ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างในพลความเท่านั้น ส่วนการตรวจค้นก็หามีข้อให้ระแวงสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจมิได้ปฏิบัติการโดยสุจริตไม่ ดังจะเห็นได้ว่าแม้ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็รับว่าเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบกัญชาแห้งอัดแท่งของกลางในรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดในข้อหามีกัญชาแห้งอัดแท่งจำนวน 3 แท่ง ของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพิพากษาลงโทษมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่สำหรับของกลางทั้ง 10 รายการตามบัญชีของกลาง คดีอาญาเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งโจทก์อ้างส่งแนบท้ายคำฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 1 ท – 6323 สงขลา ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกลางรายการที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยทั้งสามวางกัญชาแห้งอัดแท่งของกลางไว้ที่พื้นวางเท้าหลังเบาะคนขับเท่านั้น หาได้ใช้รถยนต์กระบะดังกล่าวเป็นที่ซุกซ่อนกัญชาแห้งอัดแท่งของกลางไม่ รถยนต์กระบะดังกล่าว จึงมิใช่ยานพาหนะซึ่งจำเลยทั้งสามได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ถ่านโทรศัพท์ 2 ก้อนกุญแจรถยนต์ 1 ดอก กุญแจล็อกรถ 1 ดอก และพวงกุญแจ 1 อัน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกลางรายการที่ 3 ถึงที่ 9 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้รับฟังว่าเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 อีกทั้งทรัพย์สินตามรายการที่ 2 ถึงที่ 9 ดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดมีไว้เป็นความผิดหรือได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาโดยได้กระทำความผิด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบมานั้น จึงไม่ถูกต้อง และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ โดยเห็นสมควรสั่งคืนแก่เจ้าของ

อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 22 ยกเลิกความในมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยในมาตรา 76 วรรคหนึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ได้กำหนดโทษในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิมที่ให้จำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งแม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษจำคุกเท่ากัน และตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะได้กำหนดโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ ส่วนโทษปรับนั้นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าในทางใด แม้คดีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นอันยุติ แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ไม่ริบทรัพย์สินตามรายการที่ 2 ถึงที่ 9 ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.8 ท้ายฟ้อง โดยให้คืนแก่เจ้าของ ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share