แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สติกเกอร์ที่ติดอยู่ที่ตู้เพลงจำเลยหมดอายุเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2547 จนถึงวันเกิดเหตุวันที่ 4 มิถุนายน 2547 จำเลยจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานเพลงของโจทก์ร่วม การที่จำเลยนำวีดีโอซีดีที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 30 (2) และมาตรา 70 วรรคสอง หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิอยู่ก่อนและสติกเกอร์ขาดอายุการใช้งานจึงเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 31, 61, 70, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ให้แผ่นวีดีโอซีดีเพลงคาราโอเกะจำนวน 1 แผ่น ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ สั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และริบของกลางส่วนที่เหลือทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องคืนของกลางให้แก่เจ้าของ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานเพลงตามฟ้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานเพลงของโจทก์ร่วมโดยชอบหรือไม่ และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ …ฯลฯ… ข้อเท็จจริงในคดีจึงรับฟังได้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานเพลงของโจทก์ร่วม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าสติกเกอร์ที่ติดอยู่ที่ตู้เพลงจำเลยหมดอายุเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2547 จนถึงวันเกิดเหตุวันที่ 4 มิถุนายน 2547 จำเลยจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานเพลงของโจทก์ร่วม การที่จำเลยนำวีดีโอซีดีที่มีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (2) และมาตรา 70 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิอยู่แล้ว เมื่อสติกเกอร์ขาดอายุการใช้งาน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังขึ้น”
พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ให้จำคุกจำเลย 3 เดือน โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้วีดีโดซีดีของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธ์ และริบของกลางอื่น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก