แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษา แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์เพียงแต่ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีไว้ โดยหาได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ไม่ กลับปล่อยเวลาล่วงเลย 10 ปีไปแล้วจึงได้ร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน ดังนี้ ขณะที่โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์หมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 แล้ว เพราะล่วงพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์จะร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ดังนั้น โจทก์ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย จึงไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 วรรคสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม2521 ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2คดีถึงที่สุด จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์ร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้เมื่อวันที่11 กันยายน 2521
ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2531 โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2524 และได้แจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือว่าบริษัทเป็นอันเลิกกันตั้งแต่เมื่อโฆษณาแจ้งความในหนังสือราชกิจจานุเบกษา แต่จำเลยที่ 1ไม่ได้จัดการให้มีการชำระบัญชี โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1จึงขอให้ศาลตั้งโจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม2531 ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดี เป็นผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่าโจทก์มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1เพราะโจทก์ไม่เคยดำเนินการยึดทรัพย์จำเลยที่ 1 นับแต่ศาลมีคำพิพากษาล่วงพ้น 10 ปีแล้ว ทั้งการส่งหมายนัดไต่สวนก็ไม่ชอบขอให้เพิกถอนคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีและตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์นำส่งหมายนัดไต่สวน และสำเนาคำร้องให้กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ให้ครบทุกคน ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการร้องขอตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาก็ตามแต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2521 แล้วโจทก์เพียงแต่ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีไว้ เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว โจทก์หาได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินใด ๆ ของจำเลยที่ 1ไม่ กลับปล่อยเวลาล่วงเลย 10 ปี ไปจนวันที่ 17 ตุลาคม 2531 จึงได้ร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน ดังนี้ ขณะที่โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์หมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 แล้ว เพราะล่วงพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์จะร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6382/2531 คดีระหว่างธนาคารแห่งเอเซียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำกัด โจทก์ นายสมภพ บุนนาค กับพวก จำเลย ดังนั้นโจทก์ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 วรรคสองฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น ไม่จำเป็นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 17ตุลาคม 2531 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์