คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4747/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับตั๋วเงินเช็คเดินทางไว้คราวเดียวกัน 19 ฉบับ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แม้ภายหลังจำเลยจะแยกใช้ตั๋วเงินเช็คเดินทางดังกล่าวเป็น 2 ครั้ง ก็เป็นความผิดฐานรับของโจรเพียงกรรมเดียว เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจรในคดีก่อนเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรเป็นคดีนี้ซ้ำอีก เพราะสิทธิฟ้องคดีอาญาของโจทก์ระงับลงแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4)
การที่จำเลยใช้ตั๋วเงินเช็คเดินทางปลอม 13 ฉบับ รวมเป็นเงิน12,585 บาท และใช้หนังสือเดินทางปลอมในคราวเดียวกัน เพื่อขอแลกเงินจากผู้เสียหาย เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อหลอกลวงเอาเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายเพียงประการเดียว จึงเป็นความผิดกรรมเดียว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔,๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๓๔, ๓๓๕, ๓๔๑, ๓๔๒, ๓๕๗, ๙๑, ๓๓ ริบของกลางให้จำเลยคืนเงินจำนวน ๑๒,๕๘๕ บาทแก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๕/๒๕๓๑ และ ๖๓๗๖/๒๕๓๑ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรและฐานอื่นตามฟ้องนอกจากความผิดฐานลักทรัพย์ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๗, ๒๖๔, ๒๖๖, ๒๖๘ ประกอบมาตรา ๘๓, ๙๑ ฐานรับของโจรลงโทษจำคุก ๒ ปี ฐานปลอมเอกสารหนังสือเดินทางและฐานใช้เอกสารหนังสือเดินทางปลอม ให้ลงโทษฐานใช้หนังสือเดินทางปลอมแต่กระทงเดียว ตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง จำคุก ๒ ปี ฐานปลอมเอกสารตั๋วเงินเช็คเดินทาง และฐานใช้เอกสารตั๋วเงินเช็คเดินทางปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เช็คเดินทางปลอม แต่กระทงเดียว ตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง จำเลยกระทำผิดฐานนี้รวม ๑๓ กรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ ๒ ปี รวม ๑๓ กระทง จำคุก ๒๖ ปี รวมเป็นกระทำความผิดทั้งสิ้น ๑๕ กระทง จำคุก ๓๐ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๕ ปี ให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๕/๒๕๓๑ และ ๖๒๗๖/๒๕๓๑ ของศาลชั้นต้นให้จำเลยคืนเงินจำนวน ๑๒,๕๘๕ บาท แก่ผู้เสียหาย ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีควาผมิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๖(๔), ๒๖๘ วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา ๘๓, ๙๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖(๔) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก ๒ ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปีให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจร นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา โดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงได้ความว่า จำเลยรับตั๋วเงินเช็คเดินทางไว้ในความครอบครองในคาาวเดียวกันรวม ๑๙ ฉบับ โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ได้แก่ตั๋วเงินเช็คเดินทางในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๖๒๗๕/๒๕๓๑ และ ๖๒๗๖/๒๕๓๑ ของศาลชั้นต้น รวมทั้งตั๋วเงินเช็คเดินทางในคดีนี้ หลังจากนั้นจำเลยได้นำตั๋วเงินเช็คเดินทางที่รับไว้จำนวน ๑๓ ฉบับไปใช้ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ และในวันรุ่งขึ้นได้นำตั๋วเงินเช็คเดินทางที่เหลืออยู่จำนวน ๖ ฉบับไปใช้จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม และศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตั๋วเงินเช็คเดินทางจำนวน ๖ ฉบับไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงดังกล่าวข้างต้น เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ ฯลฯ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจรต้องระวางโทษ…ฯลฯ…”การกระทำความผิดฐานรับของโจรโดยรับทรัพย์ไว้เพื่อช่วยจำหน่ายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มา โดยการกระทำความผิดดังระบุไว้จึงเป็นความผิดสำเร็จทันทีตั้งแต่เวลาที่รับทรัพย์นั้นไว้ในความครอบครอง หลังจากนั้นถึงแม้ว่าผู้กระทำจะได้แยกทรัพย์ที่รับไว้ออกใช้หรือจำหน่ายประการใดก็หาใช่การกระทำความผิดฐานรับของโจรทรัพย์ที่ได้รับไว้นั้นขึ้นอีกไม่ คงเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรเพียงครั้งเดียว เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีก่อนเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำการกระทำนั้นมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยซ้ำอีก เพราะสิทธิฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำดังกล่าวระงับลงแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา๓๙(๔)
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า การที่จำเลยใช้ตั๋วเงินเช็คเดินทางปลอมจำนวน ๑๓ ฉบับ เพื่อขอแลกเงินจากผู้เสียหายและใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อแสดงตนเป็นบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของตั๋วเงินเช็คเดินทางดังกล่าวหลอกลวงผู้เสียหายในคราวเดียวกัน เป็นการกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมหลายกรรมต่างกันหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าในการพิจารณาว่าการกระทำความผิดใดเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ นอกจากพิจารณาถึงสภาพของการกระทำและเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว ยังจะต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดอันเป็นองค์ประกอบภายในจิตใจของผู้กระทำความผิดนั้นด้วย พฤติการณ์ของจำเลยตามฟ้องคดีนี้ชี้ชัดว่า จำเลยต้องการหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายเป็นสำคัญยิ่งกว่าใช้หนังสือเดินทางและตั๋วเงินเช็คเดินทางเป็นรายฉบับ ตั๋วเงินเช็คเดินทางจำนวน ๑๓ ฉบับ ตามฟ้องมีจำนวนเงินรวมกันทุกฉบับเพียง ๑๒,๕๘๕ บาท ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องแยกหลอกลวงเอาเงินจำนวนปลีกย่อยหลายจำนวนจำเลยนำเอกสารทุกฉบับไปแสดงต่อนายเอื้อชัย จูปั้น หนักงานของธนาคารผู้เสียหายในคราวเดียวกันจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาอันเดียวหาได้มีเจตนาให้มีผลแยกต่างหากจากกันไม่ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกา
พิพากษายืน.

Share