คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4744/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522ไม่มีบทบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้สิทธิทางศาล โดยการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 78 บัญญัติเหตุที่จะร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เฉพาะกรณีที่มีการฝ่าฝืน มาตรา 26 มาตรา 32 มาตรา 34 มาตรา 51 หรือมาตรา 52เท่านั้น ที่ผู้ร้องอ้างเหตุว่าผู้ได้รับเลือกตั้งทั้งสามกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งตามที่ระบุในคำร้องก็เป็นกรณีมีการกระทำฝ่าฝืนมาตรา 15 มาตรา 35 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 86และมาตรา 91 มิใช่เหตุที่จะร้องคัดค้านการเลือกตั้ง คำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ไม่ได้บรรยายรายละเอียดให้แจ้งชัดว่าผู้ได้รับเลือกตั้งใช้เงินเกินอย่างไรใช้ที่ไหนเป็นค่าอะไรและจะถือได้ว่าเป็นการใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่เป็นคำร้องที่เคลือบคลุม ส่วนที่อ้างเหตุคัดค้านว่าผู้อำนวยการเลือกตั้งประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยไม่บรรยายให้รายละเอียดชัดแจ้งว่าผู้อำนวยการเลือกตั้งประมาทเลินเล่อร้ายแรงอย่างไรปล่อยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดของหน่วยใดลดคะแนนของผู้ร้องเท่าใดมากกว่าใครอย่างไร ลดคะแนนผู้ได้รับเลือกตั้งหน่วยไหนจำนวนเท่าใด เพิ่มคะแนนแก่ใครโดยทุจริตอย่างไร มีการดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ให้ผู้เลือกตั้งลงลายมือชื่อในบัญชีใด ขัดกับกฎหมายอย่างไร เลขเรียงของบัตรเลือกตั้งหน่วยใด หีบใดไม่ตรงกับเลขเรียงของกระทรวงมหาดไทยเป็นผลผิดกฎหมายอย่างไร ก็เป็นคำร้องที่เคลือบคลุมเช่นกัน

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่าในการดำเนินการเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้งทำได้ด้วยความถูกต้องตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522ทุกประการ สั่งยกคำร้อง
ก่อนวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าคำร้องเคลือบคลุมหรือไม่และอำนาจฟ้อง
ศาลจังหวัดบุรีรัมย์สั่งงดไต่สวนคำร้องและทำความเห็นส่งสำนวนมายังศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้สิทธิทางศาลโดยการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่นได้ จึงไม่มีกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิดังกล่าว ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสาม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยอ้างเหตุว่าข้าราชการกำนัน ผู้ใหญ่บ้านใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายช่วยเหลือผู้ได้รับเลือกตั้งหาเสียง และผู้ได้รับเลือกตั้งสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 15 และมาตรา 34 หรือไม่และคำร้องของผู้ร้องที่อ้างเหตุคัดค้านการเลือกตั้งว่าเป็นไปโดยมิชอบอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2522 มาตรา 32 มาตรา 51 และมาตรา 52 นั้น เคลือบคลุมหรือไม่เห็นว่าพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 78 บัญญัติเหตุที่จะร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เฉพาะกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 26 มาตรา 32 มาตรา 34 มาตรา 51 หรือมาตรา 52 เท่านั้นที่ผู้ร้องทั้งสามอ้างเหตุว่าผู้ได้รับเลือกตั้งทั้งสามกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งโดยในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ใช้นายประสิทธิ์นายสวัสดิ์ นายเม็ง นายสมศักดิ์ นายสว่าง กำนันตำบลต่าง ๆช่วยเหลือในการหาเสียง ข่มขู่ราษฎร ให้อามิสสินจ้างแก่ราษฏรให้ลงคะแนนให้ผู้ได้รับเลือกตั้งทั้งสาม มีนายประสิทธิประสานงานกับกำนันผู้ใหญ่บ้านหลายตำบล นายสมศักดิ์ใช้รถยนต์เป็นพาหนะไล่ยิงรถแจกใบปลิวหาเสียงของผู้ร้อง ในเขตกิ่งอำเภอห้วยราชใช้นายสุรชัย นายจุลทัศ นายเปียน นายเฮง นายเสงี่ยม นายวิรัตน์กำนันตำบลต่าง ๆ หาเสียงให้ผู้ได้รับเลือกตั้งทั้งสาม ในเขตอำเภอกระสังใช้นายกิมฮ้อประสานงานกับผู้ใหญ่บ้าน ใช้เจ้าพนักงานตำรวจหาเสียงเพื่อข่มขู่ประชาชนให้ลงคะแนน โดยสิบตำรวจตรีสิทธิพงษ์ร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายคนแจกใบปลิวหาเสียงของผู้ร้อง นายทิวาช่วยหาเสียงให้ผู้ได้รับเลือกตั้งทั้งสาม เป็นข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 และที่อ้างเหตุว่าผู้ได้รับเลือกตั้งทั้งสามให้คำมั่นสัญญาแก่ผู้เลือกตั้งว่าถ้าได้รับเลือกตั้งจะให้ข้าวสาร 1 กระสอบ และให้เงินแก่ผู้เลือกตั้งคนละ150 บาท ก็เป็นข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 35แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522ซึ่งผู้ฝ่าฝืนทั้งสองกรณีมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 86และมาตรา 91 ตามลำดับ มิใช่เหตุที่จะร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 78 แต่อย่างใด
ส่วนที่อ้างเหตุคัดค้านว่าผู้ได้รับเลือกตั้งใช้เงินเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 79 บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1(3)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจะต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับคดีทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามมาตรา 172 วรรคสอง แต่ผู้ร้องก็ไม่ได้บรรยายรายละเอียดให้แจ้งชัดว่าได้รับเลือกตั้งใช้เงินเกินอย่างไรใช้ที่ไหน เป็นค่าอะไรและจะถือได้ว่าเป็นการใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่ จึงเป็นคำร้องที่เคลือบคลุมและที่อ้างเหตุคัดค้านว่าผู้อำนวยการเลือกตั้งประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงปล่อยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ลดคะแนนของผู้ร้องมากกว่าลดคะแนนของผู้ได้รับเลือกตั้ง ในเขตกิ่งอำเภอห้วยราชและอำเภอกระสังเพิ่มคะแนนให้ผู้ได้รับเลือกตั้งทั้งสามโดยทุจริตมีการดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ให้ผู้เลือกตั้งลงลายมือชื่อในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์ กิ่งอำเภอห้วยราชและอำเภอกระสังเลขเรียงของบัตรเลือกตั้งในหีบบัตรไม่ตรงกับเลขเรียงของกระทรวงมหาดไทยก็เป็นคำร้องที่ไม่บรรยายให้รายละเอียดโดยชัดแจ้งว่าผู้อำนวยการเลือกตั้งประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างไร ปล่อยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายใด ของหน่วยใดลดคะแนนของผู้ร้องเท่าใดมากกว่าใครอย่างไร ลดคะแนนของผู้ได้รับเลือกตั้งหน่วยไหนจำนวนเท่าใด เพิ่มคะแนนแก่ใครโดยทุจริตอย่างไร มีการดำเนินการเลือกตั้งโดยไม่ให้ผู้เลือกตั้งลงลายมือชื่อในบัญชีใด ขัดกับกฎหมายอย่างไร เลขเรียงของบัตรเลือกตั้งหน่วยใดหีบใดไม่ตรงกับเลขเรียงของกระทรวงมหาดไทยเป็นผลผิดกฎหมายอย่างไร คำร้องของผู้ร้องทั้งสามจึงเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง เช่นกัน
เมื่อคำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วจึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้”
มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share