คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยซึ่งเป็นทายาทครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงยื่นคำร้องขอจัดการมรดกที่ดินพิพาท ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนั้นแสดงว่าจำเลยยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าว ถือได้ว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วยจำเลยจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1754 วรรคท้าย มาต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยพินัยกรรมของเจ้ามรดกหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและบิดาโจทก์เป็นบุตรของนายอ้วน ประทินมารดาโจทก์ถึงแก่ความตายตั้งแต่โจทก์อายุประมาณ 1 ขวบ ต่อมาเมื่อบิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย นายอ้วนก็อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมา นายอ้วนเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 277 เนื้อที่ 38 ไร่ 3 งาน 60 วา ซึ่งโจทก์ได้ทำนาร่วมกับนายอ้วนตลอดมา เมื่อนายอ้วนถึงแก่ความตายโจทก์ก็ได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลย ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2509โจทก์แต่งงานและไปอยู่กับสามีที่จังหวัดกาญจนบุรี จึงให้จำเลยเข้าครอบครองที่ดินแทนเมื่อเดือนเมษายน 2531 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายอ้วน ศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก และได้โอนรับมรดกที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2531 ต่อมาโจทก์ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทราบว่านายอ้วนทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ผู้เดียว ขอให้จำเลยโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 277 ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุมจังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ 38 ไร่ 3 งาน 60 วา ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายอ้วนบิดาจำเลยโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท เพียงแต่อาศัยอยู่กับนายอ้วนเท่านั้น จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาเพราะเป็นผู้เลี้ยงดูบิดามารดา เมื่อนายอ้วนถึงแก่ความตาย จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล และได้ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของตลอดมาไม่มีผู้ใดโต้แย้ง เมื่อจำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกจึงได้รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับกันว่า นายอ้วนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เมื่อปี พ.ศ. 2511 และนายอ้วนได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.1 ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไว้จริง โจทก์และจำเลยต่างไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 277 ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุมจังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ 38 ไร่ 3 งาน 60 วา ให้แก่โจทก์โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า นายอ้วนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อปี พ.ศ. 2511 นายอ้วนได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง เอกสารหมาย จ.1 ยกที่ดินพิพาทคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 277 ตำบลขามป้อมอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ 38 ไร่ 3 งาน 60 วาให้แก่โจทก์แต่ผู้เดียว จำเลยเป็นบุตรนายอ้วนเจ้ามรดกและได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายอ้วน ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 25 เมษายน 2531 หลังจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว วันที่ 13 พฤษภาคม 2531 จำเลยได้ไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทแล้วโอนเป็นของตนเองในวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2531 โจทก์ก็มาฟ้องคดีนี้ หลังจากนายอ้วนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้วเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นทายาทครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วจึงยื่นคำร้องขอจัดการมรดกที่ดินพิพาท ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแสดงว่าจำเลยยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าว ถือได้ว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคท้าย มาต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยพินัยกรรมของเจ้ามรดกหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยได้”
พิพากษายืน

Share