คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง ใช้บังคับกับกรณีชำระหนี้ด้วยการใช้เงินเท่านั้น การนำสืบว่ามีการชำระเงินโดยยอมให้โจทก์ตักหน้าดินไปขายและนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตาม ป.พ.พ. 321 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และการนำสืบพยานบุคคลในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยจึงนำสืบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2532 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 190,000 บาท กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2533 เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยไม่ชำระเงินคืนแก่โจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญาถึงวันฟ้องโดยขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี เป็นเงิน 71,250 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยรวม 261,250 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 190,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องจริงแต่จำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ตักหน้าดินในที่ดินของจำเลยไปขายตีชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ยินยอมรับดินของจำเลยชำระหนี้แทนเงิน และโจทก์ได้นำดินส่วนของจำเลยไปขายได้เงินเกินกว่าหนี้กู้ยืม โจทก์กับจำเลยไม่มีหนี้ต่อกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 190,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันที่ 21 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 มีนาคม 2541) ไม่ให้เกิน 71,250 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ รวม 4,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2532 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 190,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนวันที่ 21 พฤศจิกายน 2533 ตามหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยชำระเงินกู้คืนโจทก์แล้วหรือไม่ โจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยยังไม่ชำระเงินกู้คืน ส่วนจำเลยนำสืบว่า จำเลยชำระเงินกู้คืนแล้วโดยโจทก์ตักหน้าดินในที่ดินที่จำเลยกับโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันไปขายโดยจำเลยไม่ได้รับส่วนแบ่ง ซึ่งความในข้อนี้โจทก์เบิกความยอมรับว่ามีการตักหน้าดินในที่ดินส่วนของจำเลยและของโจทก์ และต่างฝ่ายต่างได้รับเงิน โจทก์ได้รับเงินมาจริงแต่อ้างว่าได้แบ่งให้แก่จำเลย แต่ฝ่ายจำเลยมีนางแวว เคลือบสำราญ พี่สาวของจำเลยเบิกความเป็นพยานว่าไม่มีการใช้เงิน โดยในปี 2533 จำเลยยินยอมให้โจทก์ตักดินในที่ดินซึ่งอยู่แปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ตำบลโพธิ์หัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นที่นาออกขาย โดยโจทก์เป็นผู้ขายดิน และนายใบ บุญเกิด บิดาของจำเลยและเป็นบิดาของนายสำราญ บุญเกิด ซึ่งเป็นสามีของโจทก์เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า หลังจากกู้เงินได้มีการใช้หนี้โดยมีการตักดินบนที่ดินของจำเลยใช้หนี้แทน โจทก์ได้ตักดินบนที่ดินของจำเลยรวมทั้งที่ดินของโจทก์ไปขายพร้อมกัน โจทก์และนายสำราญเป็นผู้ดูแลการตักดินและเป็นผู้รับเงินค่าดิน หลังจากนั้นจำเลยได้ขอสัญญากู้คืนแต่หาสัญญาไม่พบ โดยโจทก์บอกให้จำเลยมารับวันหลัง ทั้งพยานได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า พยานเป็นผู้บอกให้จำเลยให้ตักดินใช้หนี้แทน พยานได้เบิกความตอบคำถามติงทนายจำเลยว่า พยานสอบถามจำเลยแล้วจำเลยเล่าว่าไม่เคยได้รับเงินค่าดินจากโจทก์ เห็นว่า เมื่อโจทก์และจำเลยต่างเบิกความยันคำกันว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่าตักดินให้แก่จำเลยหรือไม่แต่จำเลยมีนางแววพี่สาวจำเลยซึ่งก็เป็นญาติกับโจทก์ด้วย และที่สำคัญคือนายใบบิดาของจำเลยและเป็นบิดาของนายสำราญสามีโจทก์ด้วยมาเบิกความสนับสนุนจำเลย ประกอบกับโจทก์ยอมรับว่าโจทก์และสามีโจทก์เป็นผู้จัดการตักหน้าดินและรับเงินจากผู้ซื้อ ดังนั้น เมื่อจำเลยมีหนี้ที่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์น่าจะต้องหักเงินไว้ก่อนอีกทั้งหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ครบกำหนดชำระคืนเงินภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2533 แต่ปรากฏว่าโจทก์มิได้ดำเนินการทวงถามและฟ้องร้องคดี ปล่อยให้เวลาเนิ่นนานถึง 7 ปีเศษ โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ในเดือนมีนาคม 2541 นับว่าเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง ดังนี้ พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ เชื่อว่า จำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้คืนโจทก์แล้วโดยการยอมให้โจทก์ตักหน้าดินของจำเลยไปขายชำระหนี้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า การรับฟังพยานบุคคลว่า มีการชำระหนี้โดยขุดหน้าดินไปขายไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321, 653 วรรค 2 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่า ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว” นั้น หมายถึง กรณีชำระหนี้ด้วยการใช้เงินเท่านั้น สำหรับคดีนี้การนำสืบว่ามีการชำระเงินโดยยอมให้โจทก์ตักหน้าดินไปขายและนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้เป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และการนำสืบเช่นนี้ก็ไม่ใช่เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เช่นกัน จำเลยนำสืบได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 4,000 บาท แทนจำเลย

Share