คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4737/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ว่า จำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันล่าปะการังแข็งทุกชนิดในอันดับ Scleractinia และ Stylasterina ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งคำว่าล่า นั้น ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้ให้คำนิยามไว้ว่าหมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันล่าปะการังแข็ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองย่อมหมายความถึงปะการังนั้นไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระโดยหาต้องบรรยายถ้อยคำดังกล่าวไว้ในคำฟ้องอีก ส่วนคำบรรยายฟ้องต่อมาเป็นการบรรยายรายละเอียดถึงวิธีการล่าโดยการเก็บหรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใด ซึ่งน่าจะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำฟ้องโจทก์จึงหาได้เคลือบคลุมไม่
ความผิดฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง และความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง มีองค์ประกอบของความผิดแตกต่างกันและแยกต่างหากจากกัน จำเลยล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยการเก็บหรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่สัตว์ป่าคุ้มครองย่อมเป็นการกระทำโดยเจตนาที่จะล่าสัตว์ป่าคุ้มครองและเป็นความผิดสำเร็จ เมื่อจำเลยเก็บหรือทำอันตรายแก่สัตว์ป่าคุ้มครอง และการที่จำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองจำนวน 38 กระสอบย่อมเป็นเจตนาอีกอันหนึ่งในการที่จะครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองจำนวน 38 กระสอบ แยกต่างหากจากการเป็นเก็บหรือทำอันตรายแก่สัตว์ป่าคุ้มครอง ถือได้ว่าความผิดทั้งสองฐานเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนร่วมกันล่าปะการังแข็งทุกชนิดในอันดับ (Order) Scleractinia และในอันดับ (Order) Stylasterina ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2535 โดยใช้ตะกร้าพลาสติกจำนวน 1 ใบ และบุ้งกี๋จำนวน 1 ใบ เก็บหรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่สัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวจากบริเวณชายหาดเกาะแรดนำใส่กระสอบและบรรทุกเรือประมงจำนวน 1 ลำ และมีซากหินปะการัง (แข็ง) จำนวน 38 กระสอบอันเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาโดยการกระทำผิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเหตุเกิดที่ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตามวันเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมซากหินปะการัง (แข็ง) จำนวน 38 กระสอบ กับตะกร้าพลาสติกจำนวน1 ใบ และบุ้งกี๋จำนวน 1 ใบ ซึ่งเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ในการกระทำความผิด และเรือประมงขนาด 3 วาเศษ จำนวน 1 ลำ ซึ่งเป็นของผู้อื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 6, 16, 19, 47, 57, 58 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ริบซากหินปะการัง (แข็ง) กับตะกร้าพลาสติกและบุ้งกี๋ของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 16, 19 วรรคหนึ่ง, 47, 57, 58 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก1 ปี 6 เดือน ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ริบซากหินปะการัง (แข็ง) ตะกร้าพลาสติก และบุ้งกี๋ของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์ในข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 16, 47 เคลือบคลุมเพราะไม่มีถ้อยคำว่าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ ทำให้จำเลยเข้าใจว่าปะการังที่จำเลยเก็บนั้นเป็นปะการังที่ตายแล้ว จำเลยจึงรับสารภาพนั้น เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ว่า จำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันล่าปะการังแข็งทุกชนิดในอันดับScleractinia และ Stylasterina ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งคำว่าล่า นั้น ตามมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ให้คำนิยามไว้ว่า หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่าหรือทำอันตรายด้วยประการอื่นแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันล่าปะการังแข็ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองย่อมหมายความถึงปะการังนั้นไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระโดยหาต้องบรรยายถ้อยคำดังกล่าวไว้ในคำฟ้องอีก ส่วนคำบรรยายฟ้องต่อมาเป็นการบรรยายรายละเอียดถึงวิธีการล่าโดยการเก็บหรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใด ซึ่งน่าจะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำฟ้องโจทก์จึงหาได้เคลือบคลุมไม่ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับสารภาพเพราะไม่เข้าใจคำฟ้องดังที่จำเลยฎีกา

จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในมาตรา 16 และบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในมาตรา 19 และมาตรา 47 ได้บัญญัติว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 และมาตรา 19… ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แสดงว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ให้ลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืนมาตราใดมาตราหนึ่งหรือหลายมาตราคราวเดียวกันที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 เพียงกรรมเดียวไม่ใช่หลายกรรมดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความผิดหลายกรรมหรือไม่ต้องพิจารณาจากเจตนาของผู้กระทำเป็นสำคัญ ความผิดฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง และความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง มีองค์ประกอบของความผิดแตกต่างกันและแยกต่างหากจากกันจำเลยล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยการเก็บหรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่สัตว์ป่าคุ้มครองย่อมเป็นการกระทำโดยเจตนาที่จะล่าสัตว์ป่าคุ้มครองและเป็นความผิดสำเร็จเมื่อจำเลยเก็บหรือทำอันตรายแก่สัตว์ป่าคุ้มครอง และการที่จำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองจำนวน 38 กระสอบตามฟ้อง ย่อมเป็นเจตนาอีกอันหนึ่งในการที่จะครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองจำนวน 38 กระสอบ แยกต่างหากจากการเก็บหรือทำอันตรายแก่สัตว์ป่าคุ้มครองถือได้ว่าความผิดทั้งสองฐานเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกความผิดทั้งสองฐานออกจากกันเป็นข้อ ก และข้อ ข ชัดเจน และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดทั้งสองฐานโดยอ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 มาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share