คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 813/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำสัญญาขายทรัพย์ซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของ แล้วทำการโอนไม่ได้เพราะ เจ้าของอีกคนหนึ่งคัดค้านนั้น ไม่ทำให้ผู้ขายหลุดพ้นจากความรับผิดในฐานผิดสัญญา
เบี้ยปรับฐานผิดสัญญาซึ่งคู่ความตกลงกันไว้ในสัญญา เมื่อศาลได้พิจารณาข้อสัญญาประกอบด้วยเหตุผลทั่วๆ ไปที่ปรากฏตามทางพิจารณาแล้วศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควรตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ได้
การคืนเงินมัดจำในกรณีเลิกสัญญา ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

ความว่าจำเลยทำสัญญาจะขายโรงสีไฟและที่ดินให้แก่โจทก์ และได้รับเงินมัดจำ 14,000 บาทไปแล้ว โดยเหตุที่การซื้อขายโรงสีไฟต้องขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ก่อน จำเลยได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อกระทรวงพาณิชย์ นายเรียมได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายโรงสีรายนี้ โดยอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนและไม่รู้เห็นยินยอม กระทรวงพาณิชย์จึงสั่งระงับการพิจารณาอนุญาตขาย ต่อมาจำเลยได้ขออนุญาตต่อกระทรวงพาณิชย์ขายหุ้นโรงสีไฟรายนี้ให้แก่นายทองหล่อและกระทรวงพาณิชย์ได้อนุญาตแล้ว เป็นเหตุให้โจทก์รับความเสียหาย โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยคืนเงินมัดจำ และใช้ค่าปรับฐานผิดสัญญา 40,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าการที่กระทรวงพาณิชย์สั่งระงับการพิจารณาการซื้อขายโรงสีไฟนั้น ไม่ใช่ความผิดของจำเลย เพราะโจทก์ได้ทราบทางบอกเล่าและทางเอกสารและตลอดจนทางทะเบียนว่านายเรียมเป็นหุ้นส่วน จำเลยได้เสนอขอเลิกสัญญาไปยังโจทก์ ๆ ไม่คืนมัดจำให้จำเลย โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับศาลแพ่งสั่งให้สืบพยานในประเด็นข้อเดียวว่า ในขณะทำสัญญา และก่อนทำสัญญาซื้อขายโรงสีไฟ โจทก์ทราบแล้วหรือไม่ว่ามีคนอื่นเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย โดยให้จำเลยนำสืบก่อน เมื่อสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่สามารถโอนทรัพย์ให้โจทก์ได้ตามสัญญา เรื่องค่าปรับจำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัย พิพากษาให้จำเลยคืนมัดจำและดอกเบี้ยตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาและใช้ค่าปรับฐานผิดสัญญา 40,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าในขณะทำสัญญา โจทก์ทราบดีว่า มีผู้อื่นร่วมเป็นเจ้าของโรงสีด้วย การขายไม่สำเร็จหมดความสามารถของจำเลย ๆ ไม่ใช่เป็นผู้ผิดสัญญาจะต้องถูกปรับพิพากษาแก้ว่า จำเลยไม่ต้องใช้ค่าปรับ 40,000 บาท และเสียดอกเบี้ยในเงินมัดจำตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยผู้เป็นเจ้าของมีหุ้นส่วนใหญ่และเป็นผู้จัดการได้ไปตกลงทำสัญญากับโจทก์ ครั้นไปขออนุญาตขายผู้เป็นเจ้าของส่วนน้อยคนหนึ่งไปคัดค้านเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานระงับการอนุญาต จำเลยจึงถือโอกาสบอกเลิกสัญญา เช่นนี้ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามกฎหมาย เพราะพฤติการณ์ที่บังเกิดขึ้นไม่ถึงแก่ทำให้จำเลยผู้เป็นลูกหนี้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ไปได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 218

ส่วนเบี้ยปรับโจทก์วางมัดจำ 14,000 บาท แต่กำหนดค่าปรับไว้ 40,000 บาท เมื่อพิจารณาข้อสัญญาและเหตุผลทั่ว ๆ ไป เห็นเป็นการสูงเกินควร จึงควรให้จำเลยใช้เพียง 20,000 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยเสียค่าปรับ 20,000 บาท และเสียดอกเบี้ยเงินมัดจำตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญา

Share