แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยจะไม่มีกำหนดเวลาแต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดมีลักษณะเฉพาะโดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควรเมื่อจำเลยเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้ายวันที่ 7 มิถุนายน 2531 แล้วไม่มีการ เดินสะพัดทางบัญชีอีกเลยเป็นระยะเวลานานถึง 9 ปีเศษ ดังนี้ โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่จำเลยในระยะเวลานานเกินสมควร การใช้สิทธิของโจทก์เช่นนี้จึงมิได้กระทำโดยสุจริตและเมื่อมีข้อสงสัยเช่นนี้ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องเสียหายในมูลหนี้ โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2531
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน)มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการธนาคาร เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2526จำเลยได้ขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์และนับแต่นั้นจำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์โดยใช้เช็คเบิกเงินจากบัญชีและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา โดยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2531 จำเลยนำเงินเข้าบัญชีจำนวน 1,094.91 บาท ในขณะที่รายการในบัญชีแสดงจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 28,867.92 บาท แล้วมิได้นำเงินเข้าหักทอนบัญชีกับโจทก์อีกเลย โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 15 วันครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้จึงถือว่าบัญชีเดินสะพัดเลิกกัน ขอให้จำเลยชำระหนี้โจทก์เป็นจำนวน 165,725.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี จากต้นเงิน 153,403.33 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 28,867.92 บาท แก่โจทก์พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2531ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2533 ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2535 ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 8 กันยายน2540 ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2540ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.325 ต่อปีนับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้โดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2526 จำเลยได้เปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์โดยไม่มีกำหนดอายุสัญญา อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ให้คิดทบต้นได้และยอมให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากนั้นจำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ตลอดมาจนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2531 โดยจำเลยนำเงินฝากเข้าบัญชีเพื่อหักทอนยอดหนี้จำนวน 1,094.91 บาท ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยมียอดหนี้ค้างชำระโจทก์เป็นจำนวน 28,867.92 บาท ต่อมาโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 15 วัน ครบกำหนดวันที่ 5 มกราคม 2541 จำเลยไม่ชำระหนี้ซึ่งมียอดค้างชำระรวมทั้งสิ้น 153,403.33 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สัญญาเลิกกันในวันที่ 5 มกราคม 2541 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญามีลักษณะเฉพาะโดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏชัดเจนว่า จำเลยเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7มิถุนายน 2531 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลยเป็นระยะเวลานานถึง 9 ปีเศษ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้วคงมีข้อที่จะต้องวินิจฉัยไปว่าสัญญาสิ้นสุดแต่เวลาใด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรืออาจบอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่จำเลยในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์เช่นนี้มิได้กระทำโดยสุจริต เมื่อมีข้อสงสัยเช่นนี้ก็ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องเสียหายในมูลหนี้โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2531 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ให้จำเลยชำระแก่โจทก์ยังไม่ถูกต้อง เพราะในขณะสัญญาเลิกกัน ปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 15ต่อปี ดังนั้นหลังจากสัญญาเลิกกันแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยต่อไปเพียงอัตราดังกล่าวแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 28,867.92 บาท แบบไม่ทบต้น นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2531จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น