คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,497,810.80 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้ไม่เกิน 1,110,852.57 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 6 อย่างลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งหมายความว่าหนี้ที่จำเลยที่ 6 ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้รายที่ 1 ก็รวมอยู่ในจำนวน 2,497,810.80 บาท ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนั่นเอง เพียงแต่จำเลยที่ 6 ต้องร่วมรับผิดเพียง 1,110,852.57 บาท เท่านั้น จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 6 ขอประนอมหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้รายที่ 1 จึงเป็นจำนวนเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 6 ขอประนอมหนี้เป็นจำนวนร้อยละ 60 และ 50 ตามลำดับของจำนวนหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ตนขอประนอมหนี้เท่านั้น มิได้ทำให้เจ้าหนี้ส่วนของเจ้าหนี้รายที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 6 ขอประนอมหนี้กลายเป็นหนี้คนละจำนวนกันแต่อย่างใด การคิดค่าธรรมเนียมประนอมหนี้ในส่วนจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 179 (เดิม) ซึ่งบัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ จึงต้องคิดในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ขอประนอมหนี้ ร้อยละ 60 ของจำนวนหนี้ที่ศาลอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้ จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่คิดค่าธรรมเนียมการประนอมหนี้จากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 6 ขอประนอมหนี้ในส่วนที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าหนี้รายที่ 1 อีกด้วย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2542 ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 6 เด็ดขาด ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2543 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นบุคคลล้มละลาย และวันที่ 25 ธันวาคม 2544 มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 6
ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2545 จำเลยที่ 6 และในฐานะผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คิดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 และที่ 6 ต้องจ่ายไม่ถูกต้อง เพราะมูลหนี้เดิมตามคำพิพากษา คือ หนี้ตามสัญญาขายลดเช็คที่จำเลยที่ 1 นำเช็คของจำเลยอื่นในคดีมาขายลดกับโจทก์แล้วเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คดังกล่าว เมื่อจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ จำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็จะลดลงตามส่วน และการขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 6 ก็ระบุเงื่อนไขไว้ด้วยว่าค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ชำระร่วมกันเพราะเป็นมูลหนี้จากยอดเงินเดียวกัน จำนวนเงินค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 5 ในการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 6 จึงต้องคิดจากยอดเงินเดียวกัน คือ คิดจากจำนวนร้อยละ 60 ของจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระจำนวน 1,498,685.48 บาท เป็นเงินค่าธรรมเนียม 74,934.32 บาท โดยไม่ต้องคิดค่าธรรมเนียมจากยอดหนี้ที่จำเลยที่ 6 ต้องร่วมรับผิดในส่วนนี้อีก และจำเลยที่ 6 ต้องชำระเพิ่มอีกเฉพาะค่าธรรมเนียมจากยอดเงินจำนวนร้อยละ 50 ของเจ้าหนี้อีก 2 ราย ของจำเลยที่ 6 มิใช่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ต่างคนต่างชำระค่าธรรมเนียมของยอดหนี้ที่ขอประนอมหนี้ อันเป็นการชำระค่าธรรมเนียม 2 ครั้ง มิใช่เป็นการชำระร่วมกันตามคำขอประนอมหนี้และตามความเป็นจริงแห่งหนี้ซึ่งเป็นหนี้ร่วมกัน ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าทนายความก็ต้องคิดจำนวนเดียวเพราะเป็นหนี้ร่วมกันหนี้รายเดียวกัน มิเช่นนั้นเจ้าหนี้จะได้รับชำระถึง 2 ครั้ง และจำเลยต้องชำระถึง 2 ครั้ง ซึ่งไม่ถูกต้อง ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คิดค่าธรรมเนียมในการขอประนอมหนี้ใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ไขการคำนวณเงินค่าธรรมเนียมในการประนอมหนี้ โดยให้คำนวณเงินค่าธรรมเนียมในการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 6 ร่วมกัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า การคิดค่าธรรมเนียมในการประนอมหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า การคิดค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามรายงานเจ้าหน้าที่กองคำนวณและเฉลี่ยทรัพย์ลงวันที่ 20 มีนาคม 2545 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (เดิม) บัญญัติว่า “ค่าธรรมเนียมในคดีล้มละลายให้คิดตามอัตราดังต่อไปนี้ (3)…ถ้ามีการประนอมหนี้ ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละห้าของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้…” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าในบรรดาเจ้าหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้รวม 3 ราย คงมีแต่หนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 1 เท่านั้นที่เป็นหนี้ร่วม โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,497,810.80 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้ไม่เกิน 1,110,852.57 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 6 อย่างลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งหมายความว่าหนี้ที่จำเลยที่ 6 ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้รายที่ 1 ก็รวมอยู่ในจำนวน 2,497,810.80 บาท ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนั่นเอง เพียงแต่จำเลยที่ 6 ต้องร่วมรับผิดเพียง 1,110,852.57 บาท เท่านั้น จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 6 ขอประนอมหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้รายที่ 1 จึงเป็นจำนวนเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 6 ขอประนอมหนี้เป็นจำนวนร้อยละ 60 และ 50 ตามลำดับ ของจำนวนหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ตนขอประนอมหนี้เท่านั้น มิได้ทำให้จำนวนหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้รายที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 6 ขอประนอมหนี้กลายเป็นหนี้คนละจำนวนกันแต่อย่างใด การคิดค่าธรรมเนียมหนี้ในส่วนจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 1 จึงต้องคิดในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ขอประนอมหนี้ร้อยละ 60 ของจำนวนหนี้ที่ศาลอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 1 ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่คิดค่าธรรมเนียมการประนอมหนี้จากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 6 ขอประนอมหนี้ในส่วนที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าหนี้รายที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 1 ขอประนอมหนี้ร้อยละ 60 จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้ในส่วนหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 1 จึงเป็นเงินจำนวน 1,498,686.48 บาท คิดเป็นค่าธรรมเนียมในการประนอมหนี้เฉพาะส่วนนี้จำนวน 74,934.32 บาท เท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 6 ที่ขอประนอมหนี้ร้อยละ 50 จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้ในส่วนนี้จึงเป็นเงินจำนวน 555,426.29 บาท และคิดเป็นค่าธรรมเนียมในการประนอมหนี้ที่จำเลยที่ 6 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่เกินจำนวน 27,771.31 บาท ส่วนหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 และที่ 3 ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 6 จำนวน 45,528.64 บาท และ 44,288.92 บาท ตามลำดับนั้น เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 6 แต่เพียงผู้เดียวต้องเสียค่าธรรมเนียมในการประนอมหนี้ส่วนนี้ จำเลยที่ 6 ขอประนอมหนี้ร้อยละ 50 จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้ในส่วนหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 และที่ 3 เป็นเงินจำนวน 44,908.78 บาท คิดเป็นค่าธรรมเนียมในการประนอมหนี้ส่วนนี้จำนวน 2,245.44 บาท ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คิดค่าธรรมเนียมการประนอมหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้รายที่ 1 ตามรายงานเจ้าหน้าที่กองคำนวณและเฉลี่ยทรัพย์ลงวันที่ 20 มีนาคม 2545 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ไขการคำนวณเงินค่าธรรมเนียมในการประนอมหนี้นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share