แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นบิดาของ ป. โจทก์ยอมให้ ป. ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุ 16 ปี และยังไม่มีใบอนุญาตขับรถ ขับรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะออกไปตามถนนสาธารณะเป็นการเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ถือว่าโจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โจทก์จึงต้องร่วมกับ ป. รับผิดในผลที่ ป. ทำละเมิดต่อจำเลยด้วย
การที่โจทก์และจำเลยจะต้องรับผิดในผลของการกระทำละเมิดต่อกันเพียงใดนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาได้ถือเอาความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ไม่ เมื่อต่างฝ่ายต่างทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอ ๆ กัน โจทก์และจำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากกันได้
จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายอันเกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยเอาประกันภัยไว้ และจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยผู้เอาประกันต้องรับผิด เมื่อโจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 313,540 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 291,780 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 275,032.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทไทยศรีนครประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 270,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 2 ท – 1405 นครราชสีมา จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ณ – 2090 กรุงเทพมหานคร โดยจดทะเบียนในนามของนางวาริน วิสุทธิโก ภริยาจำเลย และได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับจำเลยร่วม เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2541 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ณ – 2090 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนมิตรภาพจากด้านอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้าเข้าจังหวัดนครราชสีมา เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุเยื้องบริษัททีพีไอ จำกัด บ้านโคกกรวด ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ได้ชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 2 ท – 1405 นครราชสีมา ซึ่งมีนายปิยวิทย์ เพ็งสุริยา บุตรโจทก์เป็นผู้ขับ และโจทก์นั่งคู่มาด้วย โดยนายปิยวิทย์ขับออกมาจากทางคู่ขนานด้านซ้ายเข้าไปในทางเดินรถหลักเพื่อจะไปกลับรถซึ่งมีทางกลับรถตรงเกาะกลางถนนด้านขวา เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ปัญหาวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมมีว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยหรือนายปิยวิทย์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย โจทก์มีตัวโจทก์และนายปิยวิทย์เบิกความประกอบกันว่า เมื่อนายปิยวิทย์ขับออกจากทางคู่ขนานเข้าสู่ถนนมิตรภาพแล้ว นายปิยวิทย์ได้ขับทางช่องเดินรถด้านซ้ายเข้าช่องเดินรถด้านขวาเพื่อจะกลับรถ มีรถยนต์คันอื่น 3 ถึง 4 คัน ซึ่งขับอยู่ในช่องเดินรถด้านขวาแซงขึ้นไปทางด้านซ้าย โดยนายปิยวิทย์เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวาไว้ตลอดเวลา จำเลยขับรถยนต์มาด้วยความเร็วสูงประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จี้ติดรถยนต์คันหน้า ไม่สามารถหลบรถยนต์ที่นายปิยวิทย์ขับได้ทัน จึงเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่นายปิยวิทย์ขับ บริเวณดังกล่าวเป็นเขตชุมชนมีป้ายบังคับความเร็วให้ขับได้ไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และโจทก์ยังมีพันตำรวจตรีสมร ทองกลาง พนักงานสอบสวน เบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12 นาฬิกา ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรตำบลโพธิ์กลาง ได้รับแจ้งว่าเกิดอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันที่ถนนมิตรภาพ จึงเดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบว่ามีรถยนต์อยู่ในที่เกิดเหตุ 2 คัน คันแรกเป็นรถยนต์นั่งสองตอนยี่ห้อจิ๊ป หมายเลขทะเบียน 1 ณ – 2090 กรุงเทพมหานคร จอดอยู่บนถนนมิตรภาพช่องเดินรถด้านขวาสุดติดเกาะกลางถนน ล้อด้านซ้ายอยู่บนเส้นแบ่งช่องการจราจรระหว่างช่องขวาและช่องซ้าย มีความเสียหายบริเวณมุมขวาตามภาพถ่ายหมาย จ.10 อีกคันหนึ่งเป็นรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า พลิกคว่ำหงายท้องอยู่บริเวณข้างเกาะกลางถนน ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตเทศบาลตำบลโคกกรวด ก่อนถึงจุดเกิดเหตุประมาณ 200 ถึง 300 เมตร มีป้ายบอกว่าเป็นเขตชุมชน มีการจำกัดความเร็วไว้ ก่อนถึงจุดชนมีรอยห้ามล้อของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ณ – 2090 กรุงเทพมหานคร ระยะทางประมาณ 24 เมตร ได้ทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุไว้ ส่วนจำเลยเบิกความว่า รถยนต์คันที่นายปิยวิทย์ขับนั้นได้ขับออกมาจากทางคู่ขนานเข้ามาในทางเดินรถหลักและชิดขวาในทันทีเพื่อจะกลับรถขับส่ายไปมาในลักษณะส่ายไปทางช่องเดินรถที่ 3 ติดเกาะกลางถนน แล้วหักกลับมาในช่องเดินรถที่ 2 ที่จำเลยขับ จำเลยบีบแตรและเหยียบห้ามล้อแต่ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน โดยมีนายพิรัตน์ พึ่งโคกสูง เบิกความว่า ได้ขับรถยนต์มาตามถนนสายโคกสูง – ขามทะเลสอ มาออกที่ตำบลโคกกรวดเพื่อจะไปอำเภอสีคิ้ว และขับตามหลังรถยนต์กระบะสีขาวมา ก่อนถึงสามแยกโคกกรวด 1 กิโลเมตรเศษ รถยนต์กระบะสีขาวดังกล่าวส่ายไปมาเหมือนคนเพิ่งหัดขับ พยายามจะขับแซงแต่แซงไม่ได้เพราะทางแคบและรถยนต์ดังกล่าวส่ายไปมา เมื่อรถยนต์กระบะสีขาวดังกล่าวออกจากทางคู่ขนานเข้าสู่ถนนมิตรภาพก็ยังขับคร่อมช่องทางและส่ายไปมา รถยนต์จิ๊ปที่แล่นมาจากกรุงเทพมหานครจึงชนรถยนต์กระบะสีขาวดังกล่าว เห็นว่า พันตำรวจตรีสมรเป็นพนักงานสอบสวน ได้ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด จึงเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความของพันตำรวจตรีสมรจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำเบิกความของพันตำรวจตรีสมรประกอบภาพถ่ายและแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตเทศบาลตำบลโคกกรวด ก่อนถึงที่เกิดเหตุมาณ 300 เมตร มีป้ายเตือนว่า เขตชุมชนลดความเร็ว และมีป้ายแจ้งเส้นทางตั้งอยู่ข้างถนนและบนถนนขาเข้าจังหวัดนครราชสีมาและก่อนถึงที่เกิดเหตุประมาณ 200 เมตร มีป้ายบังคับความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ที่ถนนขาเข้าจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น เมื่อจำเลยขับรถยนต์มาถึงป้ายดังกล่าวจำเลยจึงต้องใช้ความระมัดระวังและควรชะลอความเร็วลงโดยขับด้วยความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามป้ายเตือนเขตชุมชนและป้ายบังคับความเร็วดังกล่าว ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ปรากฏว่ารอยห้ามล้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ณ – 2090 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยขับมีความยาวถึง 24 เมตร และจากจุดชนมีรอยครูดของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ท – 1405 นครราชสีมา ไปถึงจุดที่รถยนต์คันดังกล่าวพลิกคว่ำอยู่อีกเป็นความยาวถึง 18 เมตร และตามภาพถ่ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ท – 1405 นครราชสีมา แสดงว่ารถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายมาก เมื่อพิเคราะห์ถึงความยาวของรอยห้ามล้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ณ – 2090 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยขับ และความยาวของรอยครูดรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 2 ท – 1405 นครราชสีมา ที่นายปิยวิทย์ขับอันเกิดจากความแรงที่รถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ณ – 2090 กรุงเทพมหานคร มากระแทก กับความเสียหายของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 2 ท 1405 นครราชสีมา แล้ว เห็นได้ชัดว่า จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ณ – 2090 ด้วยความเร็วสูงเกินกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามที่ป้ายบังคับความเร็วจำกัดความเร็วไว้มาก การที่จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังชะลอความเร็วลงทั้ง ๆ ที่มีป้ายเตือนว่าเป็นเขตชุมชนและมีป้ายบังคับความเร็วไว้ ทำให้หลบหลีกรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 2 ท – 1405 นครราชสีมา ที่นายปิยวิทย์ขับมาไม่ทัน และเกิดชนกันจนรถยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหายและโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสเช่นนี้ เหตุละเมิดจึงเกิดขึ้นจากความประมาทของจำเลย ส่วนนายปิยวิทย์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า นายปิยวิทย์ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 2 ท – 1405 นครราชสีมา ออกมาจากทางคู่ขนานด้านซ้ายเข้ามาในทางเดินรถหลัก นายปิยวิทย์จึงต้องให้รถที่แล่นในทางเดินรถหลักซึ่งเป็นทางตรงผ่านพ้นไปเสียก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับเข้าไปได้ ยิ่งไปกว่านั้นตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ก็ปรากฏว่าจากจุดที่นายปิยวิทย์ขับรถยนต์กระบะจากทางคู่ขนานด้านซ้ายเข้าไปในทางเดินรถหลักของถนนมิตรภาพ จนถึงจุดกลับรถซึ่งอยู่ตรงเกาะกลางถนนด้านขวา มีระยะทางห่างกันไม่มากนัก โดยปรากฏตามภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ ที่พันตำรวจตรีสมรบันทึกไว้ว่าจุดที่สันนิษฐานว่าเป็นจุดชนอยู่ห่างจากจุดกลับรถข้างถนนประมาณ 80 เมตร และอยู่ห่างจากจุดกลับรถกลางถนนประมาณ 80 เมตรเช่นกัน ซึ่งจุดกลับรถข้างถนนก็คือจุดที่นายปิยวิทย์ขับรถยนต์กระบะออกมาจากทางคู่ขนานด้านซ้ายเข้าสู่ทางเดินรถหลักของถนนมิตรภาพนั่นเอง นายปิยวิทย์จึงต้องขับในลักษณะขับทแยงจากช่องเดินรถด้านซ้ายเข้าไปสู่ช่องเดินรถด้านขวาซึ่งอยู่ติดเกาะกลางถนนเพื่อให้กลับรถที่จุดกลับรถกลางถนนได้ทัน นายปิยวิทย์จึงต้องใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้นกว่าเพียงการขับออกมาจากทางคู่ขนานเข้าไปในช่องทางเดินรถหลักอย่างเดียว แต่นายปิยวิทย์ก็หาได้หยุดรอให้รถยนต์ที่แล่นมาในทางเดินรถหลักซึ่งเป็นทางตรงผ่านพ้นไปเสียก่อนไม่ กลับขับเข้าไปในทางเดินรถหลักทั้ง ๆ ที่ยังมีรถยนต์ในทางเดินรถหลักขับตรงไปอีกหลายคัน โดยนายปิยวิทย์เบิกความในส่วนนี้ว่า เมื่อขับเข้าไปในช่องเดินรถด้านขวาแล้วมีรถยนต์คันอื่นซึ่งอยู่ช่องเดินรถด้านขวาแซงออกไปทางด้านซ้าย 3 ถึง 4 คัน รถยนต์ที่จำเลยขับ จึงชนท้ายรถยนต์ที่นายปิยวิทย์ขับ หากนายปิยวิทย์ใช้ความระมัดระวังหยุดรอให้รถยนต์คันอื่นรวมทั้งรถยนต์ที่จำเลยขับซึ่งเป็นทางตรงผ่านพ้นไปเสียก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงขับรถยนต์เข้าไป การชนกันในครั้งนี้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เหตุละเมิดจึงเกิดขึ้นจากความประมาทของนายปิยวิทย์ด้วย โดยทั้งจำเลยและนายปิยวิทย์ต่างประมาทด้วยกันทั้งสองฝ่าย ส่วนปัญหาว่าจำเลยและนายปิยวิทย์ฝ่ายใดประมาทมากกว่ากันนั้น เห็นว่า นายปิยวิทย์ขับรถยนต์ออกจากทางคู่ขนานเข้ามาในทางเดินรถหลักซึ่งเป็นทางตรง ทั้งยังจะต้องขับในลักษณะทแยงจากช่องเดินรถด้านซ้ายเข้าไปสู่ช่องเดินรถด้านขวาซึ่งติดเกาะกลางถนนเพื่อจะกลับรถในจุดกลับรถได้ทัน นายปิยวิทย์จึงต้องใช้ความระมัดระวังให้มากโดยควรหยุดรอให้รถทางตรงผ่านพ้นไปก่อนไม่ควรขับเข้าไปในลักษณะกีดขวางรถทางตรง ส่วนจำเลยแม้จะขับมาในเส้นทางเดินรถหลักและเป็นรถทางตรง แต่เมื่อมีป้ายแจ้งเตือนว่า เขตชุมชนลดความเร็วและมีป้ายบังคับความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำเลยก็ต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก โดยชะลอความเร็วลงให้เหลือไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามภาพถ่ายหมาย จ.6 ซึ่งเป็นภาพเสาไฟฟ้าส่องสว่างที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางถนนถูกชนล้มลงและถูกรถยนต์กระบะพลิกคว่ำทับ กับภาพถ่ายหมาย ล.1 ซึ่งเป็นภาพความเสียหายของรถยนต์กระบะ แสดงว่ารถยนต์รกะบะได้รับความเสียหายยับเยิน ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยขับรถยนต์มาด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่ป้ายบังคับความเร็วจำกัดความเร็วไว้มากและเห็นว่าหากนายปิยวิทย์ใช้ความระมัดระวังโดยรอให้รถยนต์ในทางเดินรถหลักผ่านพ้นไปก่อนแล้วจึงขับรถยนต์กระบะเข้าไปในทางเดินรถหลัก การชนก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้และหากจำเลยชะลอความเร็วของรถยนต์ลงตามที่ป้ายบังคับความเร็วจำกัดความเร็วไว้ จำเลยก็อาจหลบหลีกรถยนต์กระบะที่นายปิยวิทย์ขับพ้นได้หรือหากยังเฉี่ยวชนก็ไม่น่าจะรุนแรงมากนัก ความประมาทของนายปิยวิทย์และความประมาทของจำเลยจึงมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากันแต่มีความประมาทพอ ๆ กัน
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า โจทก์และจำเลยต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อกันอย่างไรหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นบิดาของนายปิยวิทย์ การที่โจทก์ยอมให้นายปิยวิทย์ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อายุเพียง 16 ปี และยังไม่มีใบอนุญาตขับรถขับรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะออกไปตามถนนสาธารณะ เป็นการเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ย่อมถือได้ว่าโจทก์มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ โจทก์จึงต้องร่วมกับนายปิยวิทย์รับผิดในผลที่นายปิยวิทย์บุตรผู้เยาว์ทำละเมิดต่อจำเลยด้วย ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2529 ระหว่างนางสาวดาวสวรรค์ ไชยณรงค์ฯ โจทก์ นายเสริมศักดิ์ ลิ้มชูวงศ์ กับพวก จำเลย ส่วนโจทก์และจำเลยจะต้องรับผิดต่อกันเพียงใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาได้ถือเอาความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ไม่ เมื่อต่างฝ่ายต่างกระทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอ ๆ กัน โจทก์และจำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากกันได้ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 834/2524 ระหว่างนายบุญวาท ทะสุใจ กับพวก โจทก์ นางจันทร์ดี อินทะคำ กับพวก จำเลย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยความเสียหายของแต่ละฝ่ายและฟ้องแย้งของจำเลยอีกต่อไป จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายอันเกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยเอาประกันภัยไว้และจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยผู้เอาประกันภัยต้องรับผิด เมื่อโจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เช่นกัน ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมที่ขอให้ยกฟ้องโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้งฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3