คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4716/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งเรียกที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์ทั้งสามและเรียกค่าเสียหายจำนวน365,000บาทมาด้วยซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยห้ามโจทก์และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องและให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้งดังนั้นเมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีทั้งหมดรวมทั้งไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายด้วยเช่นนี้ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงต้องถือตามทุนทรัพย์ในคดีที่จำเลยฟ้องแย้งอันได้แก่ราคาที่ดินพิพาทจำนวน80,000บาทกับค่าเสียหายจำนวน365,000บาทรวมเข้าด้วยกันคดีโจทก์ทั้งสามจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสมบูรณ์ ชุติมาทิพากร โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับนายสมบูรณ์ โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 1 หน้า 152ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแต่มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของใน น.ส.3 ดังกล่าว นายเฮง กับนายมุ้ย ไชยมงคล ได้ขายที่ดินพิพาทพร้อมกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9893และ 9894 ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันให้นางสุวรรณี ศรีชัยมัธยมผล นางสุวรรณีเข้าครอบครองทำประโยชน์และขุดดินในที่ดินพิพาทขึ้นมาทำอิฐเป็นเวลา 8 ปี เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2521 นางสุวรรณีได้ขายที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่นายสมบูรณ์ นายสมบูรณ์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาจนกระทั่งถึงแก่ความตาย โดยให้โจทก์ที่ 2 ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและขุดดินขึ้นมาทำอิฐเมื่อเดือนพฤษภาคม 2532 ทำให้ที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นบ่อจึงนำปลามาเลี้ยงหลังจากนายสมบูรณ์ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริตและไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์เลย ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2533จำเลยและบริวารบุกรุกเข้าไปปักเสาซีเมนตร์ในที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 9893 บางส่วน นำเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดที่ดินดังกล่าวเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเพิ่งจะทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2534 ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้จำเลยรื้อถอนเสาซีเมนต์ที่จำเลยและบริวารนำไปปักไว้ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เล่ม 1 หน้า 152 ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการรื้อถอนเอง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายเฮงและนางมุ้ย ไชยมงคลขายเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 9893 และ 9894 ตำบลวัดตูมอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้แก่นางสุวรรณี ศรีชัยมัธยมผล แต่นายเฮงและนางมุ้ยได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายธีระศักดิ์ รุ่งอรุณวิโรจน์ บิดาของจำเลยเมื่อปี 2513 และจำเลยรับโอนมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2526หลังจากรับโอนที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาโดยให้ผู้อื่นเข้าทำประโยชน์ด้วยการปลูกกระจับและพืชน้ำโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านที่ดินพิพาทเป็นที่ลุ่มน้ำขังตลอดปี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2532 โจทก์ทั้งสามเข้าไปขุดตักหน้าดินในที่ดินพิพาทเป็นบริเวณกว้าง 20 เมตร ยาว 123 เมตร ลึก 2.70 เมตรคิดเป็นค่าเสียหาย 365,000 บาท จำเลยปักเสาซีเมนต์ลงบนที่ดินพิพาทเพื่อแสดงแนวเขต จำเลยไม่ได้ปักล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสามจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดเพื่อขอออกโฉนดที่ดินของจำเลยและเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยไม่ได้นำชี้ล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 9893 ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2533โจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายนำเสาซีเมนต์ปักรุกล้ำไปในที่ดินพิพาทขอให้ยกฟ้องและขอให้พิพากษาว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทห้ามโจทก์ทั้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้โจทก์ทั้งสามและบริวารถอนเสาซีเมนต์ที่โจทก์ทั้งสามและบริวารนำไปปักไว้ในที่ดินของจำเลยและให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 365,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์ทั้งสามจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นายธีระศักดิ์เป็นตัวแทนในการติดต่อขอซื้อที่ดินให้แก่นางสุวรรณี นายสมบูรณ์ และโจทก์ทั้งสามขุดดินและปักเสาซีเมนต์ในที่ดินพิพาทเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยไม่ได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและให้จำเลยรื้อถอนเสาซีเมนต์ที่จำเลยและบริวารนำไปปักไว้ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่ม 1 หน้า 152ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาคำขออื่นให้ยก ยกฟ้องแย้ง
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของและเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เล่ม 1 หน้า 152 ตำบลวัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห้ามโจทก์ทั้งสามและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว ให้โจทก์ทั้งสามชดใช้เงินจำนวน 365,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสามจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยกล่าวแก้ฎีกาเป็นประเด็นข้อกฎหมายว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้มีราคาเพียง 80,000 บาทฎีกาของโจทก์ทั้งสามต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เพราะคดีของโจทก์ทั้งสามมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท นั้นเห็นว่าคดีนี้จำเลยฟ้องแย้งเรียกที่ดินพิพาทคืนจากโจทก์ทั้งสามและเรียกค่าเสียหายจำนวน 365,000 บาท มาด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2ก็ได้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ห้ามโจทก์และบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง และให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีทั้งหมด รวมทั้งไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายด้วยเช่นนี้ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงต้องถือตามทุนทรัพย์ในคดีที่จำเลยฟ้องแย้งอันได้แก่ราคาที่ดินพิพาท จำนวน 80,000 บาท กับค่าเสียหายจำนวน365,000 บาท เข้าด้วยกัน คดีโจทก์ทั้งสามจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง
พิพากษายืน

Share