แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีละเมิดทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้นผู้ทำละเมิดจะต้องเสียค่าเสียหายเพื่อการเสียหายที่ผู้เสียหายเสียความสามารถประกอบการงานทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคตด้วย
ขับรถยนต์ชนเด็กอายุ 11 ขวบโดยประมาท เป็นเหตุให้เด็กได้รับบาดเจ็บสาหัสนายแพทย์ต้องตัดขาขวาออกไปข้างหนึ่ง ดังนี้ เด็กย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง และมีสิทธิขอค่าเสียหายในอนาคตคิดคำนวณเป็นรายเดือนจนกว่าจะมีอายุบรรลุนิติภาวะได้อีกด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง ตามทางการแห่งหน้าที่ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ชน ด.ญ.สมสวาท แก้วมณีโจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส นายแพทย์ต้องตัดขาขวา ด.ญ.สมสวาทโจทก์ออกไปข้างหนึ่ง จึงขอเรียกค่าทดแทน 20,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกเดือนละ 150 บาทเป็นเวลา 30 ปี เป็นเงิน 36,000 บาท จากจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ปฏิเสธอ้างว่า ไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 2 ปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้าง จำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดร่วมกัน ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ คือค่าสินไหมทดแทน 20,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดู เดือนละ 100 บาทจนบรรลุนิติภาวะเป็นเงิน 13,500 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด
ส่วนประเด็นเรื่องค่าเสียหายนั้น มีมาตรา 438, 444 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้แล้ว กรณีละเมิดทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ทำละเมิดจะต้องเสียค่าเสียหายเพื่อการเสียหายที่ผู้เสียหาย เสียความสามารถประกอบการงานทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต จึงมีสิทธิเรียกได้ตามมาตรา 444 เพราะถือว่าเป็นค่าเสียหายด้วย และค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดเสียให้โจทก์นั้น ศาลนี้เห็นว่าพอสมควรแล้ว
จึงพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกบจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย ฯลฯ นอกจากที่แก้คงยืน