คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ‘ปลา’ ก็ดี ‘วังหาดทรายสูง’ ก็ดี ที่ปรากฏในประกาศสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานีฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2462 มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ‘สัตว์น้ำ’และ’ที่จับสัตว์น้ำ’ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490และประกาศของสมุหเทศาภิบาลดังกล่าวยังใช้บังคับได้
ของกลางที่ใช้ในการจับสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ ตามมาตรา 69แห่ง พระราชบัญญัติการประมงที่แก้ไขใหม่บังคับให้ริบเสียทั้งสิ้น
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2497)

ย่อยาว

คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อหาว่าจำเลยทำการประมงจับปลาที่วังหาดทรายสูง ในลำน้ำมูล อำเภอกันทรารมณ์ ซึ่งเป็นที่รักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นการฝ่าฝืนประกาศสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานีขอให้ลงโทษ ชั้นแรกจำเลยปฏิเสธ ระหว่างพิจารณาจำเลยแถลงรับว่าได้ทำการจับปลาโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง แต่วังหาดทรายสูงไม่ใช่ที่รักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยยังไม่มีความผิดตามฐานนี้ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างและริบของกลาง

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า คำว่า ปลาก็ดีวังหาดทรายสูงก็ดี ที่ปรากฏในประกาศสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานีลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2462 มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สัตว์น้ำ” และ “ที่จับสัตว์น้ำ” ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ฉะนั้นประกาศของสมุหเทศาภิบาลจึงได้ชื่อว่าเป็นประกาศตามพระราชบัญญัติการประมงแล้ว และมาตรา 72 ก็บัญญัติให้ถือเอาประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำไว้ก่อนวันใช้พระราชบัญญัติว่าเป็นประกาศที่ได้ออกตามมาตรา 7 จำเลยจึงมีความผิดฐานบังอาจลอบจับปลาอันเป็นสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำดังที่ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดมา

เรื่องของกลางนั้น จำเลยใช้อวนทำการจับสัตว์น้ำตามมาตรา 69 ที่แก้ไขใหม่ บังคับว่าให้ริบเสียทั้งสิ้น จึงต้องริบตามกฎหมาย

พิพากษายืน

Share