แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การชำระหนี้ด้วยเช็คเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มีสิทธิไม่ยอมรับการชำระหนี้เงินด้วยเช็คได้ไม่เป็นการผิดข้อตกลง
ย่อยาว
คดีนี้กรณีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2535โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีข้อความสำคัญว่า (1) จำเลยที่ 3 ตกลงโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3090 คืนให้แก่โจทก์ทั้งสอง และโฉนดเลขที่ 3089คืนให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ค่าตอบแทนจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 16,000,000 บาท ตกลงจดทะเบียนและรับเงินกันในวันที่ 9 ธันวาคม 2535 เวลา 11 นาฬิกาณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นในการโอนทั้งสิ้นแต่ผู้เดียว (2) ถ้าถึงกำหนดวันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและรับเงินค่าตอบแทน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินค่าตอบแทนจำนวน 16,000,000 บาท และโจทก์ทั้งสองไม่ยอมจดทะเบียนรับโอนให้ถือว่าโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงนี้ต่อไป และจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ อันเกี่ยวกับการเรียกร้องที่ดินทั้งสองแปลงนี้อีก ในทางกลับกันหากจำเลยที่ 3 ไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาโอนที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 3 แทน และหากจำเลยที่ 1ไม่นำเงินจำนวน 16,000,000 บาท มาชำระให้แก่จำเลยที่ 3ตามวันและเวลาในข้อ (1) จำเลยที่ 1 ตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 53,000,000 บาท
ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม 2535 โจทก์ทั้งสองยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำนวนเงิน53,000,000 บาท อ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าตอบแทนจำนวน 16,000,000 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ (2) ศาลชั้นต้นสั่งให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี
ต่อมาในวันที่ 28 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดีอ้างว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความบางส่วน ทำให้ศาลหลงผิดออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีการยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1ได้รับความเสียหาย ศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อม
ในวันนัดพร้อมวันที่ 30 เมษายน 2536 ทนายความโจทก์ทั้งสองและทนายจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ตกลงกันได้ โดยตกลงกันใหม่ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้เงินจำนวน 25,000,000 บาทแก่โจทก์ทั้งสองภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 เวลา13.30 นาฬิกา โดยจำเลยที่ 1 จะนำเงินมาชำระให้ ณ ศาลแพ่งหากจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินจำนวน 25,000,000 บาทมาชำระตามนัด จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ทั้งสองบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความเต็มจำนวน 53,000,000 บาท
ต่อมาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านต่อศาลชั้นต้นว่า ในวันนัดชำระเงิน 25,000,000 บาทจำเลยที่ 1 มาศาลและเตรียมเช็คจำนวน 25,000,000 บาทมาพร้อมเพื่อชำระให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง จำเลยที่ 1 ได้นั่งรอศาลออกนั่งพิจารณาจนกระทั่งเวลา 16.30 นาฬิกา จึงทราบว่าทนายความโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยที่มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความแต่อย่างใดศาลชั้นต้นสั่งนัดพร้อมอีกครั้งในวันที่ 16 มิถุนายน 2536
ในวันนัดพร้อมศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า เช็คจำนวนเงิน 25,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเตรียมมาชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเช็คซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายและเป็นผู้รับเงิน มิใช่แคชเชียร์เช็คหรือดร๊าฟท์ซึ่งสามารถจะรับเงินสดได้มาชำระให้โจทก์ กรณียังไม่ถือว่าเป็นการชำระด้วยเงินสด จำเลยที่ 1 ยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2535ให้บังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไป
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 16 มิถุนายน 2536 ว่าเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 เวลา 13.30 นาฬิกา ทนายความจำเลยที่ 1 ได้นำเช็ค 1 ฉบับ สั่งจ่ายเงินจำนวน 25,000,000 บาทเป็นเช็คธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาลาดพร้าว(ที่ถูกสาขาเซ็นทรัลพลาซา) โดยจำเลยที่ 1 ได้รับมาจากบริษัทธนภาคย์ จำกัด ซึ่งชำระค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 1เช็คดังกล่าวลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 เป็นเช็คผู้ถือมาให้โจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จนกระทั่งเวลา 16 นาฬิกา ทนายจำเลยที่ 1นำเช็คมาให้อีก 1 ฉบับ ลักษณะเหมือนเดิม แต่ได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออกโจทก์จึงไม่ยอมรับ มีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1ได้ชำระเงินจำนวน 25,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2536 เวลา 13.30 นาฬิกาแล้วหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามคำแถลงร่วมในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 30 เมษายน 2536ไม่ได้ระบุว่าเงิน 25,000,000 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ให้โจทก์นั้นชำระด้วยเช็คเงินสดสั่งจ่ายในวันดังกล่าวไม่ได้เพราะการชำระหนี้ด้วยเช็คลงวันสั่งจ่ายในวันกำหนดชำระเงินมีผลเป็นการชำระหนี้โดยเช็คแทนเงินได้ เช็คที่มอบให้โจทก์ตามภาพถ่ายเช็คเอกสารท้ายฟ้องฎีกาหมายเลข 3 เป็นเช็คเงินสดที่ผู้ครอบครองเช็คฉบับดังกล่าวสามารถนำไปเบิกเงินสดได้ทันทีโจทก์ไม่ยอมรับเช็คไปเบิกเงินสดจึงเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ผลิต และในวันที่ 31 พฤษภาคม 2536จำเลยที่ 1 ก็นำแคชเชียร์เช็คมามอบให้โจทก์อีก แต่โจทก์ไม่ยอมรับ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามข้อตกลงด้วยเช็คนั้นเช็คเป็นหนังสือตราสารซึ่งผู้สั่งจ่ายธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งอันเรียกว่า ผู้รับเงินและเช็คเป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคสามบัญญัติว่า “ถ้าชำระหนี้ด้วยออก ด้วยโอนหรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว” ดังนั้น การชำระหนี้ด้วยเช็คคือการชำระด้วยตั๋วเงินจึงไม่ทำให้หนี้นั้นระงับสิ้นไปหากยังไม่ได้เงินตามเช็คและการชำระหนี้ด้วยตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 321 วรรคสาม ถือเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิไม่ยอมรับการชำระหนี้เงินด้วยเช็คดังกล่าวได้ ตามมาตรา 321 วรรคแรก ไม่เป็นการผิดข้อตกลงแต่อย่างใดดังนั้น เมื่อครบกำหนดเวลาชำระหนี้จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินมาชำระหนี้ตามกำหนดจำเลยที่ 1จึงตกเป็นผู้ผิดนัด การที่จำเลยที่ 1 นำแคชเชียร์เช็ครวม 2 ฉบับมาชำระให้โจทก์ในภายหลังจากนั้นก็เป็นการล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้แล้ว โจทก์ชอบที่จะไม่รับชำระหนี้ดังกล่าวได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน