คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4711/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ครอบครองที่ดินจะอ้างการครอบครองปรปักษ์ในระหว่างระยะเวลาที่กำลังพิพาทเป็นคดีหาอยู่ได้ไม่เพราะการครอบครองทรัพย์ในระหว่างคดีมิใช่การครอบครองโดยความสงบตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382จะนับเวลาในช่วงนี้มารวมกับเวลาก่อนนั้นเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์มิได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองขัดขวางการนำรังวัดและชี้แนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 2598 ตำบลบางจากฝั่งใต้อำเภอภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ดินเลขที่ 2598 เป็นของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ (4) ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะร้องคัดค้านรังวัดของโจทก์หรือไม่ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์ จำเลยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด
โจทก์ ทั้ง เจ็ด อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง เจ็ด ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยทั้งสองเฉพาะที่เกี่ยวกับประเด็นข้อ (4) ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยทั้งสองเสร็จแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ด
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ห้ามจำเลยทั้งสองขัดขวางการนำรังวัดและชี้แนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 2598 ของโจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อนายเก๊าถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และนางกุ้ยงิ้มทายาทของนายเก๊าได้ฟ้องนายไพศาลให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2598แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และนางกุ้ยงิ้ม ซึ่งจำเลยที่ 2ก็ได้เบิกความชัดเจนว่านายไพศาลถึงแก่กรรมเมื่อปี 2521ดังนั้นขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และนางกุ้ยงิ้มฟ้องนายไพศาลนั้น อย่างช้าที่สุดก็ต้องไม่เกินปี 2521 นั้นเองในเมื่อนายไพศาลได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 2598 มาตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2514 อันเป็นวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายเก๊า แต่เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7และนางกุ้ยงิ้มฟ้องนายไพศาล แล้วนายไพศาลยังคงครอบครองที่ดินไม่ครบ 10 ปี และต่อมาเมื่อศาลฎีกาพิพากษาให้นายไพศาลโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนที่นายไพศาลผู้มรณะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2598 ให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7และนายกุ้ยงิ้มตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2130 – 2131/2525อันเป็นการโอนทั้งแปลง จำเลยทั้งสองจะอ้างการครอบครองปรปักษ์ในระหว่างระยะเวลาที่กำลังพิพาทเป็นคดีอยู่หาได้ไม่ เพราะการครอบครองทรัพย์ในระหว่างคดีมิใช่การครอบครองโดยสงบตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382จะนับเวลาในช่วงนี้มารวมกับเวลาก่อนนั้นเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์มิได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2598จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และนางกุ้ยงิ้มโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คือวันที่ 11 มกราคม 2526 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าคดีดังกล่าวเป็นการพิพาทในเรื่องข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่ข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ในคดีนั้นว่า ในการตกลงเลิกห้างหุ้นส่วนระหว่างนายเก๊ากับนายไพศาล ได้ตกลงกันให้ที่ดินโฉนดเลขที่2598 ตกเป็นของนายเก๊า โดยให้นายไพศาลโอนให้ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งในคดีนี้ได้ส่วนการที่จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และนางกุ้ยงิ้มจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์มาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการครอบครองแทนจนกว่าจะมีการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ทั้งหมด จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จะนำมาใช้ยันโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5ที่ 7 และนางกุ้ยงิ้มซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ เพราะบุคคลดังกล่าวพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (2)ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ และไม่ปรากฎว่าโจทก์ทั้งเจ็ดชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิคัดค้านการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ด
พิพากษายืน

Share