แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 มาตรา 24 มิได้บัญญัติให้อำนาจนายอำเภอแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่แต่อย่างใด การที่นายอำเภอมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานสำรวจสำหรับเขตหมู่บ้านและแต่งตั้งให้มีเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในหมู่บ้านที่ตนปกครองรับผิดชอบ คำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีผลให้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ แม้ต่อมาจำเลยได้จัดเก็บเงินภาษีบำรุงท้องที่จากราษฎร แล้วเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2519 นายอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 แต่งตั้งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองหมู่บ้านกระชาย หมู่ที่ 14 ตำบลยางอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในหมู่บ้านที่จำเลยปกครองดังกล่าว ตามประกาศรายชื่อผู้ที่จะต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ในปี พ.ศ. 2519 ต่อมาจำเลยได้จัดการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2519 ตามที่ได้รับมอบหมายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 200.73 บาทจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จะต้องจัดการรักษาเงินและนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งนายอำเภอศีขรภูมิ แต่จำเลยกลับเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และทางราชการกระทรวงมหาดไทย และนายอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เสียหายเหตุเกิดที่ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157, 352, 353 และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 200.73 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ให้จำคุก 5 ปี และให้จำเลยคืนเงิน 200.73 บาทแก่ทางราชการข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 14ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ นายอำเภอศีขรภูมิมิได้มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 9(2) ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานสำรวจสำหรับเขตหมู่บ้าน (เอกสารหมาย จ.3) และได้มีคำสั่งอาศัยพระราชบัญญัติเดียวกัน มาตรา 24 แต่งตั้งให้ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นหัวหน้าปกครองหมู่บ้านจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในหมู่บ้านตนปกครองที่รับผิดชอบตามประกาศรายชื่อผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 – 2520 โดยกำหนดให้ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านเป็นที่นัดชำระภาษีบำรุงท้องที่ (เอกสารหมาย จ.4)
ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่พ.ศ. 2508 ที่นายอำเภอศีขรภูมิอาศัยเป็นอำนาจออกคำสั่งนั้น บัญญัติว่า”ให้เจ้าของที่ดินซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลงตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด” (วรรค 1) “ในกรณีที่ที่ดินอยู่นอกเขตเทศบาล เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรจะกำหนดให้เจ้าพนักงานสำรวจทำการสำรวจแล้วยื่นแบบแสดงรายการที่ดินแทนเจ้าของที่ดินเป็นรายแปลงที่ทำการสำรวจก็ได้” (วรรค 2) หาได้มีข้อความให้อำนาจนายอำเภอแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ไม่คำสั่งของนายอำเภอดังกล่าวจึงไม่มีผลให้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ผิดกับคำสั่งที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 9(2) ซึ่งโจทก์อ้างส่วนมาตรา 34 ก็เป็นเรื่องให้อำนาจนายอำเภอกำหนดสถานที่อื่นนอกจากที่ว่าการอำเภอเป็นที่ชำระภาษี ที่โจทก์อ้างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ข้อ 18 ว่าจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ฟังคำสั่งของทางราชการ เมื่อนายอำเภอศีขรภูมิ สั่งให้จำเลยมีหน้าที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และเก็บรักษาเงินไว้แล้วนำส่งอำเภอ จำเลยต้องปฏิเสธมานั้นศาลฎีกาเห็นว่าบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ใหญ่บ้านปฏิบัติตามคำสั่งของกำนันหรือทางราชการ ฯลฯ แต่เมื่อคำสั่งของนายอำเภอศีขรภูมิไม่มีผลให้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว แม้จำเลยจะปฏิบัติตามก็ไม่ทำให้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีขึ้นมาได้ เพราะผู้สั่งไม่มีอำนาจสั่งเช่นนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ไม่มีความผิดฐานเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องไม่อาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 353 ได้ โจทก์มิได้ฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน