คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเจตนาทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาทที่ทำกันไว้สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์จำเลยตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่งส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้โดยสัญญาขายก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสอง และมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะ โจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมกรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ โดยโจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 โจทก์จำเลยทำสัญญาว่าโจทก์ขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4614 จำเลยในราคา180,000 บาท เพื่ออำพรางสัญญาขายฝากที่ดินพิพาท หลังทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวแล้ว โจทก์จำเลยทำสัญญาให้โจทก์มีสิทธิไถ่ถอนที่ดินโดยไม่มีกำหนดเวลาในราคา 180,410 บาท ตลอดเวลาที่โจทก์ทำนาในที่ดินพิพาทก็ชำระค่าเช่านาแทนดอกเบี้ยตามสัญญาขายฝาก ระหว่างปี 2534 ถึงปี 2537โจทก์นำเงิน 180,410 บาท ไม่ชำระให้แก่จำเลยหลายครั้งเพื่อจดทะเบียนคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่จำเลยขอผัดและในที่สุดไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4614ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ระหว่างโจทก์จำเลยฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 เป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมขายฝากจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายต้องบังคับตามนิติกรรมขายฝาก โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และให้จำเลยรับชำระหนี้180,410 บาท จากโจทก์ กับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีคืนให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดไม่ใช่ขายฝาก ในวันทำสัญญาซื้อขายโจทก์ขอต่อมารดาจำเลยว่าหากภายใน 2 ปี โจทก์สามารถจะซื้อที่ดินพิพาทคืนได้ก็ขอให้จำเลยขายคืน ภายหลังทำสัญญาโจทก์ได้เช่าที่ดินพิพาททำนาและชำระค่าเช่านาให้จำเลยตลอดมา เมื่อพ้นกำหนด 2 ปี โจทก์มาแจ้งว่าไม่สามารถซื้อที่ดินพิพาทคืนได้และขอเช่าต่อ โจทก์ไม่เคยนำเงิน 180,410 บาท มาชำระให้ ทั้งจำเลยไม่เคยผัดผ่อนเหตุที่โจทก์ฟ้องเนื่องจากที่ดินพิพาทมีราคาเพิ่มขึ้นมาก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4614ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 เป็นโมฆะ ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์คืนเงิน63,000 บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับรองว่ามีเหตุที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4614 ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน โจทก์กู้เงินจากนางแอ๊ว จงจิราวโรจน์ หรือชะนะวานิชย์ มารดาจำเลย หลายครั้งรวมเป็นเงิน 63,000 บาท โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกันและชำระดอกเบี้ยบางส่วนคงค้างชำระดอกเบี้ยในปี2528 และ 2529 มารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 180,410 บาท ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2529โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4614ในราคา 180,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมายล.3 ในวันเดียวกันนั้นโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 และ ล.1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญาขายที่ดินพิพาทหรือขายฝากต่อกัน โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เดิมโจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยแล้วค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย 180,410 บาท มารดาจำเลยบอกให้โจทก์จดทะเบียนที่ดินเป็นขายฝากไว้กับมารดาจำเลยเพราะจะไม่คิดดอกเบี้ยอีกต่อไป โจทก์ตกลงยินยอมเนื่องจากเกรงว่าไม่สามารถชำระดอกเบี้ยต่อไปได้ แต่เมื่อไปถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีแล้วมารดาจำเลยอ้างว่าหากทำเป็นสัญญาขายที่ดินแทนสัญญาขายฝากแล้วจะเกิดผลดีกว่า ไม่ต้องยุ่งยากมาจดทะเบียนกันอีก และมารดาจำเลยจะออกค่าธรรมเนียมให้ทั้งหมด โจทก์จึงตกลงโดยทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยซึ่งเข้ามาเป็นคู่สัญญาแทนมารดาจำเลย และได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อกลับถึงบ้านแล้วมารดาจำเลยเขียนสัญญาขายฝากตามที่ตกลงกัน2 ฉบับ ให้โจทก์ไว้ 1 ฉบับ ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 โดยโจทก์มีพระภิกษุสมาน ธรรมจาโร เบิกความสนับสนุน ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและนางแอ๊วมารดาจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์กู้เงินมารดาจำเลยแล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ โจทก์จึงตกลงจะขายนาให้โดยหักกลบหนี้กันไป หลังจากทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีโดยมารดาจำเลยให้จำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินแล้วได้กลับไปที่บ้านมารดาจำเลย โจทก์จะขอซื้อที่ดินคืนในราคาเดิมมารดาจำเลยตกลงและเป็นผู้เขียนหลักฐานไว้ เห็นว่า มารดาจำเลยเป็นผู้เขียนสัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีข้อความว่า “วันที่ 30พฤษภาคม พ.ศ. 2529 นายหล่อ ชื่นชอบ ได้ตกลงขายนาฝากไว้กระนายทวีศักดิ์ ชะนะวานิชย์ เป็นเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ 2 งานเป็นเงิน (180,410) (หนึ่งแสนแปดหมื่นสี่ร้อยสิบบาท) มีกำหนด … ปีข้าพเจ้า นายหล่อ ชื่นชอบ จะนำเงินจำนวนนี้มาถ่ายถอนกลับนายทวีศักดิ์ ชะนะวานิชย์ ถ้านายทวีศักดิ์ขัดขืนให้ฟ้องร้องตามกฎหมาย” สัญญาดังกล่าวนี้มีข้อความชัดเจนว่าโจทก์ตกลงขายฝากที่นาหรือที่ดินพิพาทแก่จำเลยไม่มีข้อความใดที่บ่งบอกว่ามีการซื้อขายที่ดินพิพาทก่อนหน้านั้นแล้วโจทก์จะขอซื้อที่ดินคืนดังที่จำเลยนำสืบแต่อย่างใด ประกอบกับพฤติการณ์ที่มีการทำสัญญาดังกล่าวทันทีทันใดที่กลับจากสำนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริงว่าต้องการขายฝากที่ดินพิพาทและฝ่ายจำเลยได้สัญญากับโจทก์ว่า หลังจากจดทะเบียนซื้อขายแล้วจะไปทำสัญญาขายฝากต่อกันที่บ้าน ซึ่งสอดคล้องกับข้อความที่ปรากฏในสัญญาเอกสารหมาย จ.2 หากเป็นเรื่องที่โจทก์ขอซื้อที่ดินคืน มารดาจำเลยก็น่าจะเขียนสัญญาไปตามนั้นไม่มีเหตุผลที่จะเขียนถึงเรื่องขายฝากอีก เพราะที่ดินได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามสัญญาซื้อขายแล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยเจตนาทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล.3 สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่งส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้โดยสัญญาขายก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสอง และมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะคู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมกรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือโจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ปัญหาคงมีว่า โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลยเท่าใด เห็นว่า แม้ตามฟ้องโจทก์จะอ้างว่ากู้เงินจำเลยเพียง 63,000 บาท ค้างชำระดอกเบี้ย90,000 บาท แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบว่าเหตุใดจึงยอมรับตามที่มารดาจำเลยกล่าวอ้างว่า โจทก์ค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวม180,410 บาท นอกจากนั้นโจทก์ได้ร้องเรียนต่อกรมอัยการกล่าวอ้างว่าโจทก์กู้เงินจำเลย 80,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อเท็จจริงจึงไม่แน่ชัดว่าโจทก์ค้างชำระเงินต้นเท่าใดและดอกเบี้ยเท่าใด แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้างอีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา 180,410 บาท ตามคำขอท้ายฟ้องต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าวเมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 180,410 บาทแก่จำเลย มิใช่ 63,000 บาท ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยแต่เนื่องจากจำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง 180,000 บาทศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์คืนเงิน 180,000 บาท แก่จำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share