คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4708/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฎว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 รับซื้อฝากที่พิพาทโดยทุจริตแต่อย่างใด โจทก์อ้างเพียงว่า สัญญาขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจขายฝากที่พิพาทเท่านั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า รับซื้อฝากที่พิพาทไว้โดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 6 การที่ตัวการลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความไว้ ภายหลังจำเลยที่ 1 โดยทุจริตได้นำใบมอบอำนาจดังกล่าวไปกรอกข้อความแล้วขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคือจำเลยที่ 1 ทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่า การอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของตัวการย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของ ม. บิดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมแล้ว ม.ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้โจทก์และทายาทคนอื่น แต่โจทก์และทายาทไม่สามารถครอบครองที่ดินนั้นได้ เพราะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งนำใบมอบอำนาจที่ ม.มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้โจทก์และทายาทอื่นไปกรอกข้อความเท็จ โดยนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองไว้กับธนาคารและไถ่ถอนจำนองแล้วขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยมิได้ไถ่ถอนคืนจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 2ยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้จำเลยที่ 4 โดยเสน่หาสัญญาขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นโมฆะ และสัญญาให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีผลตามกฎหมายขอให้พิพากษาว่านิติกรรมขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนนิติกรรมและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบทรัพย์พิพาทให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยพร้อมทั้งส่งมอบโฉนดที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ม.มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายฝากที่พิพาทแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และได้จดทะเบียนขายฝากโดยชอบและสุจริต จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริตจดทะเบียน และเสียค่าตอบแทน จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จำเลยที่ 4 รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยเสน่หาและสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 1081 ในสภาพเรียบร้อยดังเดิมให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นายเถลิงศักดิ์จั่นบำรุง ทายาทของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 รับ ซื้อฝาก ที่พิพาทโดยทุจริตแต่อย่างใด โจทก์อ้างเพียงว่า สัญญาขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นโมฆะเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจขายฝากที่พิพาทเท่านั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของกฎหมายว่ารับซื้อฝากที่พิพาทไว้โดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 รับซื้อฝากที่พิพาทจากจำเลยที่ 1โดยสุจริต แม้หากข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าขุนมนูญประศาสน์ ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจ โดยไม่ได้กรอกข้อความไว้ และภายหลังจำเลยที่ 1 นำใบมอบอำนาจดังกล่าวไปกรอกข้อความแล้วขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยทุจริต อันเป็นการยักยอกลายมือชื่อของขุนมนูญประศาสน์ ก็ตาม ก็หามีผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่ 3ผู้รับซื้อฝากโดยสุจริตไม่เพราะการที่ขุนมนูญประศาสน์ ตัวการมอบอำนาจในลักษณะเช่นนั้น เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคือจำเลยที่ 1 ทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต ดังนั้น ขุนมนูญประศาสน์ จึงต้องรับผิดผูกพันตามสัญญาขายฝากที่พิพาทดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และแม้จำเลยที่ 1 ผู้กรอกข้อความจะถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานก็ไม่ทำให้สิทธิของบุคคลภายนอกเสียไปด้วย สัญญาขายฝากที่พิพาทหาตกเป็นโมฆะไม่ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของขุนมนูญประศาสน์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ที่ 3 และเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 2และที่ 4
พิพากษายืน.

Share