แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การแจ้งความเท็จอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172,173ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง ต้องเป็นข้อความเท็จที่เกี่ยวกับความผิดอาญา โดยคำฟ้องต้องบรรยายให้ได้ความว่า จำเลยแจ้งความเท็จกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดในทางอาญาฐานใดฐานหนึ่งด้วยการที่โจทก์กล่าวในฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันให้จำเลยที่ 4 ที่ที่ 6 นำข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาไปแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองหลอกลวงเอาเงินของจำเลยที่ 5 ที่ 6 ไปโดยไม่ได้ความว่าหลอกลวงอย่างไรและการหลอกลวงนั้นเป็นการกระทำที่เป็นความผิดในทางอาญาหรือไม่ เช่นนี้จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158(5) การบรรยายฟ้องโดยเพียงหยิบยกเอาถ้อยคำของกฎหมายในแต่ละมาตรามาบรรยายเพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดและไม่มีข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา และสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆรวมทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158(5).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137,148, 157, 172, 173, 174, 309, 310, 337, 83 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์โจทก์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172 ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ จึงไม่รับวินิจฉัยส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 162, 173, 174, 309,310 และ 337 นั้น ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายแยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไป ข้อหาบางข้อบรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิด เป็นฟ้องเคลือบคลุมและไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา158(5), 160 คดีโจทก์จึงไม่มีมูล พิพากษายืน
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 มานั้น เห็นว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 16 มิถุนายน2529 และวันที่ 16 ตุลาคม 2529 ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 148, 157, 172, 173, 174, 309,310 และ 337 เท่านั้น มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 162 ด้วย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในข้อหานี้มาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ในข้อหาฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172,173, 174 นั้น มีปัญหาเฉพาะความผิดตามมาตรา 137 ตามฎีกาโจทก์ว่าอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับข้อหาดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานอันเป็นการยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 5ที่ 6 แจ้งความเท็จ จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์โจทก์ในข้อหาดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่า ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อหาตามมาตรา 172 เห็นว่า โจทก์ฟ้องข้อหาแจ้งความเท็จขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 172 ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์ตามมาตรา 174 วรรคสอง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีผลทำให้ความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 172 ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาโจทก์ส่วนนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยข้อกฎหมายรวมกันไปทีเดียวว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับข้อหาตามมาตรา 172, 173 ประกอบมาตรา 174 วรรคสอง เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การแจ้งความเท็จอันจะเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นข้อความเท็จที่เกี่ยวกับความผิดอาญา โดยคำฟ้องต้องบรรยายให้ได้ความว่า จำเลยแจ้งความเท็จกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดในทางอาญาฐานใดฐานหนึ่งด้วย การที่โจทก์กล่าวในฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 นำข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาไปแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ทั้งสองหลอกลวงเอาเงินของจำเลยที่ 5 ที่ 6 ไป โดยไม่ได้ความว่าหลอกลวงอย่างไร และการหลอกลวงนั้นเป็นการกระทำที่เป็นความผิดในทางอาญาหรือไม่ เช่นนี้จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ฎีกาโจทก์ในข้อหาฐานแจ้งความเท็จฟังไม่ขึ้น
ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 309, 310 และ337 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ สำหรับข้อหาตามมาตรา 148, 309 และ 337โจทก์กล่าวในฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจให้โจทก์ทั้งสองมอบให้หรือหามาให้ซึ่งเงินจำนวน 20,000 บาทแก่ตนและแก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจโจทก์ทั้งสองให้ทำสัญญายอมใช้เงินจำนวน 17,000 บาท ถ้าโจทก์ทั้งสองไม่กระทำจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ฯลฯ จนโจทก์ทั้งสองต้องยอมทำสัญญาและหาเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยทั้งหก เห็นว่า ฟ้องโจทก์กล่าวแต่เพียงว่า จำเลยข่มขืนใจหรือจูงใจโจทก์ทั้งสองให้มอบให้หรือหามาให้ซึ่งเงินจำนวน20,000 บาท และให้ทำสัญญายอมใช้เงินจำนวน 17,000 บาท แต่จำเลยได้กระทำการอย่างไรที่เรียกว่าเป็นการข่มขืนใจหรือจูงใจให้กระทำการดังกล่าวนั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายมาในฟ้องเลยในข้อหาตามมาตรา 310โจทก์กล่าวในฟ้องเพียงว่า จำเลยกักขังหน่วงเหนี่ยวโจทก์ทั้งสองไว้ทำให้โจทก์ทั้งสองปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยมิได้บรรยายว่าจำเลยกระทำการอย่างไรบ้างที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ ส่วนข้อหาตามมาตรา 157 โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองโดยมิได้บรรยายว่า จำเลยกระทำการอย่างไรอันเป็นการแสดงว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ฟ้องโจทก์ทุกข้อหาดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเพียงหยิบยกเอาถ้อยคำของกฎหมายในแต่ละมาตรามาบรรยายเพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดและไม่มีข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ รวมทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)…”
พิพากษายืน.