แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 และ 1022หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่า จำเลยที่ 1เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 อันนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่คดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 2อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร เมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว โจทก์ย่อมขอให้จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนี้สินของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้สินของจำเลยที่ 2 หรือไม่และไม่ต้องคำนึงด้วยว่ากรณีของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9)ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้จำเลยที่ 2ย่อมต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากร จึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวกรณีมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 89
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.4 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสำเนารายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.15 โดยมิได้กรอกข้อความเพื่อให้นายประพจน์ นุชวานิช หุ้นส่วนผู้จัดการเดิมของจำเลยที่ 1ถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนและให้ห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 เลิกกันนั้นเห็นว่า เอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.4เป็นหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจัดการการเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 และ 1022 หนังสือรับรองดังกล่าวจึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127 อันนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่คดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2ที่ถูกเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบถึงความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารแต่พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างจากโจทก์ บันทึกการปิดหมายเรียกหน้าสำนักงานของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ชอบที่ศาลจะยกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 บัญญัติว่า”เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด แล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่” คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้ว โจทก์ย่อมขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตามกฎหมายดังกล่าวโดยไม่ต้องคำนึงว่าหนี้สินของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้สินของจำเลยที่ 2 หรือไม่และไม่ต้องคำนึงด้วยว่ากรณีของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่เพราะเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077 กรณีไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย”
พิพากษายืน