คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 47/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลได้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้ตั้งโรงไฟฟ้ามีหน้าที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลผู้ร้องขอใช้ไฟฟ้าภายในเขตสัมปทานโจทก์เป็นราษฎรฟ้องหาว่าจำเลยทำผิดข้อสัญญากับโจทก์ในการจำหน่ายกระแสไฟมิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อกำหนดในสัมปทานประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 374 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้นปัญหาที่ว่าโจทก์จะได้สิทธิตามสัมปทานโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 นี้หรือไม่ จึงไม่เกิดขึ้น
สัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าไม่ปรากฏว่ามีกำหนดระยะเวลา อาจมีการเลิกกันเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้ซื้อไม่ชำระค่ากระแสไฟ ผู้ขายก็ตัดสายไฟ ดังนี้ ผู้ซื้อจะมาฟ้องขอให้บังคับผู้ขายให้ต่อสายไฟและจ่ายกระแสไฟให้ต่อไป
สภาพย่อมไม่เปิดช่องให้บังคับได้ตามขอ
เมื่อเทศบาลซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ผิดสัญญาจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่ฟ้องโจทก์ไม่เรียกค่าเสียหายจากเทศบาลซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 เป็นแต่เรียกจากจำเลยอื่นๆ ซึ่งเป็นคนงานและตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ดังนี้ ก็ไม่มีทางให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
เทศบาลทำน้ำประปาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับสัมปทานตาม พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขของสาธารณะชนแล้ว การที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับห้ามมิให้เทศบาลเรียกเก็บค่าน้ำประปานั้น ศาลจะบังคับให้ไม่ได้เพราะเป็นการรับรองให้โจทก์ได้รับผลจากการกระทำอันไม่ถูกต้องกับกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับสัมปทานตั้งโรงทำการไฟฟ้าและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนในเขตสัมปทาน โจทก์ได้ทำสัญญารับซื้อกระแสไฟฟ้ากับน้ำประปาจากจำเลยที่ 1 สำหรับน้ำประปาจำเลยที่ 1 คิดเอาราคาท่อน้ำประปาหรือคิดค่าเช่าท่อน้ำประปารวมทั้งค่าแรงงานติดต่อตั้งเท่านั้น ส่วนค่าน้ำประปาไม่คิดเอาจนกว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสัมปทานการประปาโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 2, 3, 4 ซึ่งเป็นคณะเทศมนตรีได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าประจำเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2489 จากโจทก์ในอัตราหน่วยละ 2 บาทต่อเดือน อันเกินไปจากข้อสัญญาและสัมปทาน ซึ่งเคยเป็นหน่วยละ 30 สตางค์ต่อเดือนและเรียกเก็บค่าน้ำประปาในเดือนกรกฎาคม 2489 ถึง 6 บาท โจทก์โต้แย้งและไม่ยอมชำระส่วนที่เกิน จำเลยที่ 2, 3, 4 ได้ใช้ให้จำเลยที่ 5 ตัดสายไฟ แล้วงดจ่ายกระแสไฟฟ้าทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยต่อสายไฟฟ้าและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์และเรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าหน่วยละ 30 สตางค์ต่อเดือน ห้ามจำเลยไม่ให้เรียกเก็บเงินค่าน้ำประปาจากโจทก์ในระยะเวลาที่จำเลยยังมิได้รับสัมปทาน กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย

จำเลยทั้งหมดให้การว่า ได้กระทำกิจการเทศบาลทุกอย่างไปโดยชอบโจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ตามข้อผูกพันซึ่งมีต่อเทศบาล น้ำประปามีข้อสัญญาเพียงให้ใช้ มิใช่ให้รับประทาน โจทก์บิดพริ้วไม่ชำระหนี้เอง จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ และข้อผูกพันโจทก์จะเรียกค่าเสียหายไม่ได้ และจะอ้างสัมปทานไม่ได้ เพราะเทศบาลมีข้อผูกพันกับกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะไม่เกี่ยวถึงโจทก์

ศาลชั้นต้นเห็นว่า กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ขึ้นราคาค่ากระแสไฟฟ้า เพียงวันที่ 31 พฤษภาคม 2489 พ้นวันนั้นจำเลยที่ 2 มิได้ข้อร้องอีก จนวันที่ 5 กรกฎาคม 2489 จึงได้มีหนังสือขอเพิ่มตามอัตราที่เคยอนุมัติ กระทรวงมหาดไทยโทรเลขตอบในวันที่ 1 ตุลาคม 2489 ให้ขึ้นราคาได้ตามขอ และให้ย้อนเก็บในเดือนมิถุนายน ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2489 การที่ให้ย้อนไปเก็บได้ตามราคาที่เพิ่มไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนและผู้ใช้ จึงเรียกเก็บไม่ได้ ส่วนค่าน้ำประปาจำเลยที่ 1 จะต้องได้รับสัมปทานตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัย ฯลฯ การที่จำเลยเรียกเก็บค่าน้ำจึงมิชอบพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 10 บาท

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัมปทาน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลผู้ร้องขอใช้ไฟฟ้าในเขตสัมปทาน แต่โจทก์มิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อกำหนดในสัมปทานนี้ ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ปัญหาที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิตามมาตรา 374 นี้หรือไม่ จึงไม่เกิดขึ้นโจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 เรียกเก็บอัตราค่ากระแสไฟฟ้าเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัมปทาน เมื่อโจทก์ไม่ชำระจำเลยก็ตัดสายไฟ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยต่อสายไฟและจ่ายกระแสไฟให้โจทก์ต่อไป สัญญาซื้อกระแสไฟฟ้านี้ โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีระยะเวลาอาจจะมีการเลิกกันเมื่อใดก็ได้สภาพจึงไม่เปิดช่องทางให้บังคับจำเลยตามที่โจทก์ขอได้ในข้อให้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าหน่วยละ 30 สตางค์ จึงบังคับให้ไม่ได้ เพราะตามสัมปทานจำเลยที่ 1 ยังอาจขึ้นค่ากระแสไฟได้ เมื่อได้รับอนุญาต

การที่จำเลยตัดสายไฟและงดจ่ายกระแสไฟนั้น เป็นการกระทำต่อทรัพย์สินที่เป็นของจำเลยเอง ส่วนที่เป็นผลให้โจทก์ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าหากจะเป็นมูลให้ฟ้อง ก็แต่ในเรื่องผิดสัญญา หาใช่ละเมิดไม่แต่ตามคำพรรณาฟ้องของโจทก์ โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญานี้จากจำเลยที่ 1 เป็นแต่เรียกจากจำเลยอื่น ๆ ซึ่งเป็นคนงานและตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต่างหากที่เป็นคู่สัญญากับโจทก์และจะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ในกรณีผิดสัญญา เมื่อโจทก์ไม่ได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีทางให้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีทางให้ค่าเสียหายแก่โจทก์

เรื่องน้ำประปานั้น พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขของสาธารณชน พ.ศ. 2471 และที่แก้ไขโดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2485 ห้ามไม่ให้บุคคลใดประกอบการ นอกจากได้รับอนุญาตจากรัฐบาล หรือได้รับสัมปทานแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทาน การที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้ห้ามจำเลยมิให้เรียกเก็บค่าน้ำประปานั้น ศาลจะบังคับให้ไม่ได้ เพราะเป็นการรับรองให้โจทก์ได้รับผลจากการกระทำ อันไม่ถูกต้องกับกฎหมาย

พิพากษายืน

Share