คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4693/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในเอกสารประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 บัญญัติให้ผู้เชี่ยวชาญอาจแสดงความเห็นด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แล้วแต่ศาลจะต้องการ เมื่อพันตำรวจโท ป.ทำความเห็นในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้ตายเป็นหนังสือมาแล้ว โดยให้ความเห็นว่าลายมือชื่อเขียนไม่คงที่ไม่อาจลงความเห็นใด ๆ ได้เช่นนี้ การให้พันตำรวจโท ป.มาเบิกความประกอบรายงานอีกจึงไม่มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดีแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึงเป็นดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า พินัยกรรมของผู้ตายเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ซึ่งพินัยกรรมปลอมกับพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเพราะพินัยกรรมปลอมไม่มีผลบังคับเป็นพินัยกรรมแต่อย่างใด ส่วนพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลมีผลบังคับเป็นพินัยกรรมได้ แต่อาจจะถูกศาลสั่งเพิกถอนได้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว นอกจากนี้พินัยกรรมที่ได้ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมมิได้เพิกถอนพินัยกรรมนั้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1709 ฉะนั้น ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ จึงมิได้รวมถึงการใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้ผู้ตายทำพินัยกรรมด้วย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายประดิษฐ์ ผดุงสินธุ์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเจียด เถาอ่อน ผู้ตาย ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายเจียด เถาอ่อน ผู้ตายเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางจวด เถาอ่อน ซึ่งเป็นยายของผู้ร้อง ผู้ตายมีบุตร 1 คนคือผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2538 ผู้ตายถึงแก่กรรม โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการและมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ในวันที่ 1 กันยายน 2538 มีการเปิดและอ่านพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2529 ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านฟัง ณ ที่ว่าการอำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งตามพินัยกรรมดังกล่าวผู้ตายตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเพื่อระบุให้พันตำรวจโทประจวบควรขจร ผู้เชี่ยวชาญของศาลที่ได้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรมมาเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2541 ผู้คัดค้านแถลงต่อศาลว่าหมดพยานบุคคลที่จะนำสืบ แต่จะขอส่งพินัยกรรมไปให้กองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมว่าเป็นลายมือชื่อของนายเจียด เถาอ่อน หรือไม่ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งพินัยกรรมไปทำการตรวจพิสูจน์ หลังจากกองพิสูจน์หลักฐานรายงานผลการตรวจพิสูจน์มาว่า ลายมือชื่อ “นายเจียด เถาอ่อน” ในพินัยกรรมและสำเนาพินัยกรรมเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของนายเจียด เถาอ่อน ตามเอกสารตัวอย่างแล้วปรากฏว่ามีลักษณะการเขียนคล้ายกัน แต่เนื่องจากเป็นการตรวจลายมือชื่อที่เขียนไม่คงที่ไม่อาจลงความเห็นใด ๆ ได้ ผู้คัดค้านจึงยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเพื่อระบุให้พันตำรวจโทประจวบ ควรขจร ผู้ซึ่งทำการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวมาเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์อีก ซึ่งในการที่ศาลแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในเอกสารนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 บัญญัติให้ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวอาจแสดงความเห็นด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แล้วแต่ศาลจะต้องการ ฉะนั้นเมื่อพ้นตำรวจโทประจวบทำความเห็นในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้ตายเป็นหนังสือมาแล้วโดยให้ความเห็นว่าลายมือชื่อเขียนไม่คงที่ไม่อาจลงความเห็นใด ๆ ได้ เช่นนี้ การให้พันตำรวจโทประจวบมาเบิกความประกอบรายงานอีกจึงไม่มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดีแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึงเป็นดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการที่สอง ผู้ตายทำพินัยกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านต่อสู้คดีว่าลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อปลอม ซึ่งการปลอมลายมือชื่อรวมถึงการไม่เต็มใจหรือถูกหลอกลวงฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรมด้วย จึงต้องวินิจฉัยปัญหาเรื่องผู้ตายทำพินัยกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลด้วย เห็นว่า ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายเป็นพินัยกรรมปลอม เพราะลายมือชื่อในพินัยกรรมมิใช่ลายมือชื่อของผู้ตาย แต่เป็นลายมือชื่อที่ผู้ร้องได้ปลอมแปลงขึ้นเพื่อหวังผลในมรดกของผู้ตายเท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมของผู้ตายฉบับลงวันที่ 2ตุลาคม 2529 เป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ซึ่งพินัยกรรมปลอมกับพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะพินัยกรรมปลอมไม่มีผลบังคับเป็นพินัยกรรมแต่อย่างใด ส่วนพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลมีผลบังคับเป็นพินัยกรรมได้ แต่อาจจะถูกศาลสั่งเพิกถอนได้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว นอกจากนี้พินัยกรรมที่ได้ทำขึ้นโดยกลฉ้อฉลมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมมิได้เพิกถอนพินัยกรรมนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1709 ฉะนั้น ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่จึงมิได้รวมถึงการใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงให้ผู้ตายทำพินัยกรรมด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องผู้ตายทำพินัยกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลนั้นชอบแล้วฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการที่สาม พินัยกรรมของผู้ตายเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องกับพวกร่วมกันปลอมลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรม ฝ่ายผู้ร้องมีนายปิยะ เสียมหาญ นายปริญญา เสียมหาญ นางสาวจันทนา ศรีทอง และนายแพทย์ชูเกียรติ ฐิตะดิลก ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมผู้พิมพ์พินัยกรรมและแพทย์ผู้ตรวจสุขภาพของผู้ตายในวันทำพินัยกรรมตามลำดับมาเบิกความยืนยันว่า ผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าตน โดยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และมีการถ่ายภาพไว้ ส่วนผู้คัดค้านมีตัวผู้คัดค้านและนายสุทัศน์ ประภาสมาเบิกความเป็นพยานว่า ในปี 2528 ผู้ตายมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ มือสั่น ตามองไม่ค่อยเห็นหูตึง ในปี 2529 ผู้ตายชรามากไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ออก เซ็นชื่อได้อย่างเดียว ข้อความในพินัยกรรมหลายตอนไม่ถูกต้อง ภาพถ่ายมีข้อพิรุธ ที่ผู้ตายจับปากกา 2 ด้าม แสดงว่าผู้ตายลงชื่อหลายครั้งในเอกสารหลายฉบับเห็นว่า พยานทั้งสี่ของผู้ร้องเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นในการที่ผู้ตายทำพินัยกรรมเป็นคนกลางไม่มีประโยชน์ส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด และเบิกความสอดคล้องต้องกันเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ในการทำพินัยกรรมของผู้ตาย ตามภาพถ่ายเป็นภาพผู้ตายกับพยานทั้งหลายที่ร่วมในการทำพินัยกรรมซึ่งผู้คัดค้านเองก็ยอมรับว่าเป็นภาพของผู้ตายในขณะทำพินัยกรรม การที่มีภาพถ่าย 2 ภาพ ผู้ตายถือปากกาสีน้ำเงินส่วนอีก 9 ภาพผู้ตายถือปากกาสีชมพูก็มิใช่เป็นข้อพิรุธเพราะผู้ตายลงลายมือชื่อไว้หลายแห่ง ในพินัยกรรมมีลายมือชื่อผู้ตายถึง 5 แห่ง และพินัยกรรมอีกฉบับก็มีลายมือชื่อผู้ตายอีก4 แห่ง นอกจากนี้ตามภาพถ่ายที่ผู้ตายถือปากกาสีชมพูก็มีปากกาสีน้ำเงินวางอยู่บนโต๊ะแสดงว่ามีการใช้ปากกาทั้งสองด้ามในการลงลายมือชื่อประการสำคัญที่สุดเมื่อผู้ตายอยู่ร่วมในขณะทำพินัยกรรมแล้วไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องปลอมลายมือชื่อผู้ตายในพินัยกรรมอีก ทั้งรายงานของผู้เชี่ยวชาญศาลในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้ตายในพินัยกรรมเปรียบเทียบกับลายมือชื่อผู้ตายตามเอกสารตัวอย่างที่ผู้คัดค้านส่งไปตรวจพิสูจน์ก็รายงานว่า เปรียบเทียบกันแล้วก็มีลักษณะการเขียนคล้ายกัน แต่เนื่องจากเป็นการตรวจลายมือชื่อที่เขียนไม่คงที่จึงไม่อาจลงความเห็นใด ๆ ได้ อันแสดงว่าไม่มีข้อพิรุธในลายมือชื่อของผู้ตายแต่อย่างใด พยานหลักฐานของฝ่ายผู้ร้องจึงมีน้ำหนักมากกว่าฝ่ายผู้คัดค้าน น่าเชื่อว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของผู้ตาย พินัยกรรมจึงชอบด้วยกฎหมาย มีผลบังคับได้ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการที่สี่ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 711 ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ตเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 711 ดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้าน มิใช่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมเท่านั้น มิใช่พิพาทกันในเรื่องทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม จึงไม่มีประเด็นพิพาทว่าทรัพย์ใดเป็นมรดกหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัย ปัญหาเรื่องที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 711 ว่าเป็นมรดกของผู้ตายหรือมิใช่นั้นชอบแล้วฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการสุดท้าย ผู้ร้องสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ตายแบ่งที่ดินให้ผู้ร้องใช้อยู่อาศัยแต่ผู้ร้องก็ขายที่ดินนั้นไป ผู้ร้องไม่ช่วยจัดงานศพของผู้ตาย ไม่นำเงินที่เหลือจากงานศพของผู้ตายไปทำบุญถวายวัดและร่วมกับพวกปลอมพินัยกรรมนั้น เห็นว่าได้วินิจฉัยมาแล้วว่าพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมของผู้ตาย มีผลบังคับได้ตามกฎหมายมิใช่พินัยกรรมปลอมซึ่งตามพินัยกรรมดังกล่าวข้อ 5 กำหนดให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับพินัยกรรมของผู้ตายด้วย การที่ผู้ร้องขายที่ดินที่ผู้ตายยกให้ไปหรือไม่นำเงินที่เหลือจากงานศพของผู้ตายไปทำบุญถวายวัดก็เป็นสิทธิโดยชอบของผู้ร้องที่จะกระทำเช่นนั้น มิใช่เป็นความประพฤติที่เสื่อมเสียแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share