แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิในการใช้นามของบุคคล ป.พ.พ.มาตรา 18 บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้น ถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับมอบอำนาจให้ใช้ได้ก็ดี บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้ ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้” นอกจากนี้ในกรณีสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าก็มี ป.อ.มาตรา 272 (1)บัญญัติถึงการที่ผู้ใดเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความรายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น เป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา เป็นต้น โดยไม่มีกฎหมายจำกัดสิทธิว่าการใช้นามหรือชื่อทางการค้าจะต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะได้รับความคุ้มครอง
โจทก์ได้ใช้คำว่า “BMW” หรือที่เรียกขานในประเทศไทยว่า”บีเอ็มดับบลิว” เป็นทั้งชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้ารวมทั้งใช้เป็นชื่อบริษัทในเครือของโจทก์ จนมีชื่อเสียงแพร่หลายในหลายประเทศมาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยใช้ชื่อว่า “บีเอ็มดับบลิว” ในปี 2539 โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อดังกล่าวและมีสิทธิใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อทางการค้าในประเทศไทยได้ แม้ก่อนปี 2539 จะไม่ปรากฏว่าโจทก์เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยเองหรือจัดตั้งบริษัทในเครือโดยใช้ชื่อนี้ก็ตาม
โจทก์ได้ใช้คำว่า “BMW” อ่านว่า บีเอ็มดับเบิลยู หรือที่เรียกขานในประเทศไทยว่า “บีเอ็มดับบลิว” เป็นเครื่องหมายการค้าจนมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยมาหลายสิบปี และโจทก์ได้ใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อทางการค้าควบคู่กันไปกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดังกล่าวเป็นกิจการขนาดใหญ่มีการขยายกิจการไปในประเทศต่าง ๆ ถึง 140 ประเทศ ทั่วโลก ใช้เงินลงทุนและได้รับผลตอบแทนสูงมาก กิจการค้าของโจทก์เป็นกิจการค้าที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณจนได้รับความนิยมเชื่อมั่นในสินค้าและกิจการของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้านี้จากผู้บริโภคโดยทั่วไป ชื่อเสียงเกียรติคุณนี้ย่อมทำให้สาธารณชนผู้บริโภคใช้เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าจากกิจการของโจทก์ คำว่า”BMW” ที่โจทก์ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าในการประกอบการค้าของโจทก์นับได้ว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็รับว่ารู้จักรถยนต์และเครื่องหมายการค้า คำว่า “BMW” หรือที่เรียกขานในประเทศไทยว่า “บีเอ็มดับบลิว” ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อประกอบการค้าขายสินค้าโดยใช้ชื่อพ้องกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและชื่อทางการค้าของโจทก์ ย่อมอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการในลักษณะเป็นกิจการในเครือของโจทก์ หรือมีความเกี่ยวพันกับโจทก์ หรือได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ใช้ชื่อดังกล่าวในการประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ แม้จำเลยที่ 1 จะประกอบการค้าสินค้าคนละประเภทกับสินค้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ยังมีโอกาสแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณและความเชื่อมั่นในกิจการของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดังกล่าวได้และเมื่อกิจการของโจทก์เป็นกิจการขนาดใหญ่มากและเป็นกิจการที่ผลิตและจำหน่ายสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งมีราคาสูง การที่มีบุคคลอื่นใช้ชื่อพ้องกับเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าของโจทก์ในการประกอบกิจการขนาดเล็กก็จะมีผลให้ผู้ที่มีความนิยมและเชื่อมั่นในกิจการของโจทก์อาจเข้าใจผิดว่าโจทก์ลดระดับลงมาทำกิจการขนาดเล็กด้วย และอาจคลางแคลงไม่มั่นใจในกิจการของโจทก์อันเป็นผลในทางลบที่ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์เสื่อมลงและความเชื่อมั่นในกิจการของโจทก์ลดลงทั้งการที่จำเลยที่ 1 ใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ก็ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรได้รับจากการขออนุญาตใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ในการประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 และไม่อาจควบคุมระดับคุณภาพกิจการของจำเลยที่ 1 ที่มาใช้ชื่อพ้องกัน เพื่อรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยใช้ชื่อว่า “บีเอ็มดับบลิว” จำเลยที่ 1 ก็อาจใช้เป็นข้ออ้างสิทธิที่จะห้ามบุคคลอื่นมิให้ใช้ชื่อพ้องกันกับชื่อห้างจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา18 ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการใช้สิทธิจดทะเบียนบริษัทในเครือของโจทก์โดยใช้ชื่อดังกล่าวได้อีกด้วย จึงเห็นได้ว่าการใช้ชื่อว่า “บีเอ็มดับบลิว” ของจำเลยที่ 1 ที่พ้องกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีผลทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ และจำเลยทั้งสองซึ่งรู้จักเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์อยู่แล้วย่อมพึงคาดหมายได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองจะทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์การที่จำเลยทั้งสองยังใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่น ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมุ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำกิจการจำหน่ายสินค้าเครื่องยนต์และยานพาหนะซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ดัวย จำเลยที่ 1 จึงอาจจำหน่ายสินค้าเครื่องยนต์และยานพาหนะเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์และอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในแหล่งที่มาของสินค้าได้ การที่จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการใช้ชื่อพ้องกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วจะทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ แต่ยังจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1ในชื่อว่า “บีเอ็มดับบลิว” พ้องกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้ชื่อนี้ในกิจการค้าสินค้าของจำเลยทั้งสอง โดยมุ่งหมายที่จะนำชื่อเสียงเกียรติคุณอันมีคุณค่าของโจทก์มาใช้เป็นประโยชน์แก่กิจการค้าของตนโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 1จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิใช้นามหรือชื่อดังกล่าวได้โดยชอบ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “BMW” ของโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา5, 18 และ 421 โจทก์ผู้มีสิทธิโดยชอบที่จะใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวซึ่งต้องเสื่อมเสียประโยชน์จากการใช้ชื่อโดยมิชอบของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการมิให้ใช้ชื่อดังกล่าว หรือให้เปลี่ยนชื่อเสียได้
เครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป นอกจากนี้ยังได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยสำหรับสินค้ารถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และส่วนควบของรถ ครั้งแรกตั้งแต่วันที่12 ตุลาคม 2509 สินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” ก็ได้มีการจำหน่ายไปทั่วโลกเป็นเวลากว่า 80 ปี แล้ว
เมื่อเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนคำว่า “BMW”ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8(11) ห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ว่าสำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใดบุคคลผู้ไม่สุจริตย่อมไม่อาจนำเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” ของโจทก์ไปใช้เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือชื่อสำนักงานการค้าของตนได้ แม้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือสำนักงานการค้านั้นจะประกอบการค้าขายสินค้าต่างจำพวกหรือต่างชนิดกับสินค้าของโจทก์ก็ตาม ดังนี้ เมื่อจำเลยทั้งสองนำชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” ของโจทก์หรือที่เรียกขานในประเทศไทยว่า “บีเอ็มดับบลิว” มาใช้โดยจดทะเบียนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนคำว่า “BMW” จึงมีสิทธิขัดขวางจำเลยทั้งสองในการใช้โดยไม่สุจริตซึ่งชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 อันเป็นชื่อสำนักงานการค้าของจำเลยทั้งสองและห้ามมิให้จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534มาตรา 47
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “BMW” (อ่านว่า บี เอ็ม ดับบลิว) หรือบีเอ็มดับบลิว โดยชื่อดังกล่าวเป็นชื่อย่อของโจทก์ที่เรียกขานตามตัวอักษรต้นของชื่อเต็มคำว่า “BAYERISCHE MOTOREN WERKE AKTIENGESELLSHAFT” โดยโจทก์ใช้ชื่อดังกล่าวในการประกอบกิจการค้ารถยนต์ของโจทก์ทั้งในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยเป็นเวลานานจนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของสาธารณชน คำว่า “BMW” จึงเป็นชื่อทางการค้าหนึ่งของโจทก์และโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” และรูปประดิษฐ์ที่มีคำว่า”BMW” ประกอบอยู่ คือเครื่องหมายการค้า ” ” โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้ารถยนต์ซึ่งมีจำหน่ายและโฆษณาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยมาเป็นเวลานานจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมแพร่หลายของสาธารณชน สาธารณชนเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยทั่วไปว่า”บีเอ็มดับบลิว” จึงนับได้ว่าชื่อและเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” หรือ”บีเอ็มดับบลิว” ของโจทก์เป็นชื่อและเครื่องหมายการค้าที่แพร่หลายทั่วไป โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” และคำว่า “BMW” ในรูปประดิษฐ์กับสินค้ารถยนต์ เครื่องยนต์ ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยด้วยโดยในประเทศไทยโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” กับสินค้ารถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และส่วนควบของรถตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๐๙ ตามคำขอเลขที่ ๓๑๙๕๗๕ ทะเบียนเลขที่ ค.๕๒๗๘๐ (เดิมคำขอเลขที่ ๕๗๓๖๗ ทะเบียนเลขที่๓๗๒๔๑) ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” ในรูปประดิษฐ์ โจทก์ได้จดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้ารถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และส่วนควบของรถตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม๒๕๐๙ ตามคำขอเลขที่ ๓๑๑๗๒๘ ทะเบียนเลขที่ ค.๔๘๗๓๕ (เดิมคำขอเลขที่ ๕๖๕๒๒ทะเบียนเลขที่ ๓๗๒๓๙) นอกจากนี้โจทก์ยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า”BMW” และคำว่า “BMW” ในรูปประดิษฐ์กับสินค้าต่าง ๆ อีกหลายประเภท เมื่อวันที่๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๐ โจทก์ได้ยื่นแบบคำขอจองชื่อนิติบุคคลของโจทก์ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เพื่อการจัดตั้งบริษัทดำเนินธุรกิจในประเทศไทยว่า”บริษัทบีเอ็มดับบลิว (ประเทศไทย) จำกัด” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “BMW (THAILAND)COMPANY LIMITED” แต่นายทะเบียนปฏิเสธไม่ให้โจทก์ใช้ชื่อดังกล่าว เนื่องจากชื่อนิติบุคคลที่โจทก์ขอจองชื่อไว้ซ้ำกับชื่อห้างหุ้นส่วน จำกัด บี เอ็ม ดับบลิว ตามทะเบียนเลขที่ หจสป.๔๙๑๒ ซึ่งจำเลยทั้งสองได้นำเอาชื่อและเครื่องหมายการค้าคำว่า”บีเอ็มดับบลิว” ของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ ๑ ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๙ โจทก์เป็นเจ้าของที่แท้จริงและมีสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” และคำว่า”บีเอ็มดับบลิว” ดีกว่าจำเลย โดยโจทก์ได้ประดิษฐ์ จดทะเบียนใช้และโฆษณาชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” และเครื่องหมายการค้าคำว่า”BMW” ในรูปประดิษฐ์ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยมาเป็นเวลานานกว่า ๓๐ ปี จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายของสาธารณชน จำเลยทั้งสองเองก็รู้จักชื่อเสียงเกียรติคุณและความนิยมแพร่หลายในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอย่างดีอยู่ก่อน แต่จำเลยทั้งสองโดยไม่สุจริตแอบอิงแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณและความนิยมแพร่หลายในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงได้นำเอาชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW”หรือ “บีเอ็มดับบลิว” ของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ อันทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าและกิจการของจำเลยที่ ๑ มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าและกิจการของโจทก์ในทางใดทางหนึ่งอันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และทำให้โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนใช้ชื่อบริษัทว่า”บีเอ็มดับบลิว (ประเทศไทย)” ตามที่ขอจองชื่อไว้ได้ทั้งที่โจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิใช้ชื่อดังกล่าวดีกว่าจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมีแต่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ได้ขอให้จำเลยระงับการใช้คำว่า “BMW” หรือ”บีเอ็มดับบลิว” เป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อห้างจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อห้างจำเลยที่ ๑ โดยไม่ใช้คำว่า “บีเอ็มดับบลิว” หรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “บีเอ็มดับบลิว” ของโจทก์อีกต่อไปให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อห้างจำเลยที่ ๑ แล้วเสร็จและจนกว่าจะยุติการทำละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์และห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียน หรือเข้าเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” หรือ “บีเอ็มดับบลิว” ของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ ๑ มิให้ใช้คำว่า “บีเอ็มดับบลิว” หรือ “บี เอ็ม ดับบลิว” หรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า อักษรโรมันคำว่า “BMW” ของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ห้ามจำเลยทั้งสองใช้หรือเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใด ๆ กับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า”บีเอ็มดับบลิว” หรือ “บี เอ็ม ดับบลิว” หรือ อักษรโรมัน คำว่า “BMW”
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยใช้ชื่อว่า”BAYERISCHE MOTOREN WERKE AKTIENGESELLSHAFT” ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตั้งแต่ปี ๒๔๕๙ (ค.ศ.๑๙๑๖) โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์ชิ้นส่วน และเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” ซึ่งเรียกขานกันในประเทศไทยว่า “บีเอ็มดับบลิว” โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวครั้งแรกในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อปี ๒๔๗๒ (ค.ศ.๑๙๒๙) ต่อมาโจทก์ได้ขยายกิจการไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า ๑๔๐ ประเทศ ทั่วโลก โจทก์จึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้นมีบริษัทไทยยานยนต์ จำกัดนำสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ของโจทก์เข้ามาจำหน่ายมาประมาณ ๓๐ ปี แล้วและโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” อ่านว่า “บีเอ็มดับบลิว”ในประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๐๙ สำหรับสินค้ารถยนต์นั่งรถจักรยานยนต์ ส่วนและส่วนควบของรถดังกล่าว และได้มีการจดทะเบียนเพิ่มเติมในปี ๒๕๑๐, ๒๕๑๒ และ๒๕๓๕ นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและได้รับความนิยมในประเทศไทยด้วย และโจทก์ได้ใช้คำว่า “BMW” ซึ่งเป็นอักษรที่นำมาจากอักษรตัวแรกของคำที่เป็นชื่อเต็มของโจทก์เป็นชื่อในการประกอบการค้าของโจทก์ โจทก์ขยายกิจการของโจทก์ในประเทศต่าง ๆ โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทซึ่งใช้คำว่า “BMW” เป็นชื่อบริษัท เช่น ในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีจัดตั้งบริษัทใช้ชื่อว่า “BMW KOREA” ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์จัดตั้งบริษัทใช้ชื่อว่า”BMW ASIA” ในประเทศแคนาดาจัดตั้งบริษัทใช้ชื่อว่า “BMW CANADA” และในประเทศนิวซีแลนด์จัดตั้งบริษัทใช้ชื่อว่า “BMW NEW ZEALAND” เป็นต้น นอกจากธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์โจทก์ยังประกอบธุรกิจด้านอื่นโดยใช้ชื่อทางการค้าในลักษณะเดียวกัน เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมทางอากาศใช้ชื่อว่า “BMW Rolls-Royce GmbHOberursel” ธุรกิจการเงินใช้ชื่อว่า “BMW Bank GmbH Munick” และ “BMWLeasing GmbH Munick” นอกจากนี้โจทก์ได้โฆษณาสินค้าในสื่อต่าง ๆ เช่นการโฆษณาทางโทรทัศน์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก การโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์และร่วมงานมหกรรมแสดงรถยนต์ในประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการของโจทก์ดังกล่าวโจทก์ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนสูงมาก และได้รับผลตอบแทนสูงมากเช่นกันเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” ของโจทก์เป็นที่รู้จักและแพร่หลายทั่วไป รวมทั้งสาธารณชนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยด้วย จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป เมื่อปี ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยใช้ชื่อว่า”ห้างหุ้นส่วนจำกัด บี เอ็ม ดับบลิว” ที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาเมื่อต้นปี ๒๕๔๐ โจทก์ต้องการตั้งบริษัทในเครือในประเทศไทยโดยจองชื่อในการจัดตั้งบริษัทว่า “บริษัทบีเอ็มดับบลิว (ประเทศไทย) จำกัด หรือBMW (THAILAND) COMPANY LIMITED” แต่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทปฏิเสธการรับจดทะเบียนเพราะพ้องหรือคล้ายคลึงกับชื่อของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วดังกล่าว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิใช้ชื่อทางการค้าว่า “BMW” หรือ “บีเอ็มดับบลิว” หรือไม่ เห็นว่าในเรื่องสิทธิในการใช้นามของบุคคลนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๘ บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้น ถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับมอบอำนาจให้ใช้ได้ก็ดี บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้ ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไปจะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้” นอกจากนี้ในกรณีสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าก็ยังมีกฎหมายให้ความคุ้มครองดังเช่นที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒ (๑) บัญญัติถึงการที่ผู้ใดเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความรายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น เป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา เป็นต้น โดยไม่มีกฎหมายจำกัดสิทธิว่าการใช้นามหรือชื่อทางการค้าดังกล่าวจะต้องมีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้คำว่า “BMW” หรือที่เรียกขานในประเทศไทยว่า “บีเอ็มดับบลิว”เป็นทั้งชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้ารวมทั้งใช้เป็นชื่อบริษัทในเครือของโจทก์จนมีชื่อเสียงแพร่หลายในหลายประเทศมาก่อนที่จำเลยที่ ๑ จะจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยใช้ชื่อว่า “บีเอ็มดับบลิว” ในปี ๒๕๓๙ โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อดังกล่าวและมีสิทธิใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อทางการค้าในประเทศไทยได้แม้ก่อนปี ๒๕๓๙ จะไม่ปรากฏว่าโจทก์เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยเองหรือจัดตั้งบริษัทในเครือโดยใช้ชื่อนี้ก็ตาม
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยที่ ๑ ใช้ชื่อว่า “บีเอ็มดับบลิว” เป็นชื่อห้างจำเลยที่ ๑ หรือไม่ และการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “BMW”ของโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๑ ใช้ชื่อดังกล่าวโดยสุจริตไม่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ ๑ ใช้ชื่อดังกล่าว เห็นว่า คำว่า”BMW” อ่านว่า บีเอ็มดับเบิลยู หรือที่เรียกขานในประเทศไทยว่า “บีเอ็มดับบลิว” นี้โจทก์ได้ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าจนมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยมาหลายสิบปี และโจทก์ได้ใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อทางการค้าควบคู่กันไปกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดังกล่าวเป็นกิจการขนาดใหญ่ มีการขยายกิจการไปในประเทศต่าง ๆ ถึง ๑๔๐ ประเทศ ทั่วโลก ใช้เงินลงทุนและได้รับผลตอบแทนสูงมาก แสดงให้เห็นว่ากิจการค้าของโจทก์ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้า คำว่า “BMW” หรือที่เรียกขานในประเทศไทยว่า “บีเอ็มดับบลิว”ดังกล่าว เป็นกิจการค้าที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณจนได้รับความนิยมเชื่อมั่นในสินค้าและกิจการของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้านี้จากผู้บริโภคโดยทั่วไปซึ่งชื่อเสียงเกียรติคุณนี้ย่อมทำให้สาธารณชนผู้บริโภคใช้เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าจากกิจการของโจทก์ คำว่า “BMW” ที่โจทก์ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าในการประกอบการค้าของโจทก์นับได้ว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ และจำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ก็รับว่ารู้จักรถยนต์และเครื่องหมายการค้า คำว่า “BMW” หรือที่เรียกขานในประเทศไทยว่า”บีเอ็มดับบลิว” ของโจทก์ การที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อประกอบการค้าขายสินค้าโดยใช้ชื่อพ้องกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและชื่อทางการค้าของโจทก์ดังกล่าว ย่อมอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าจำเลยที่ ๑ประกอบกิจการในลักษณะเป็นกิจการในเครือของโจทก์ หรือมีความเกี่ยวพันกับโจทก์หรือได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ใช้ชื่อดังกล่าวในการประกอบการค้าของจำเลยที่ ๑ ได้เช่น กรณีที่จำเลยที่ ๒ พิมพ์นามบัตรตามเอกสารหมาย จ.๔ มีข้อความระบุคำว่า”บีเอ็มดับบลิว” เป็นอักษรตัวใหญ่เห็นได้เด่นชัดกว่าข้อความอื่น และระบุประเภทสินค้าที่จำหน่ายว่า เครื่องดับเพลิง ไฟฉุกเฉินและอุปกรณ์เซฟตี้ครบชุด ก็อาจทำให้เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ ๑ ประกอบกิจการขายสินค้าเหล่านี้อยู่ในเครือของโจทก์หรือมีความเกี่ยวพันหรือได้รับอนุญาตจากโจทก์มาแล้วได้ เป็นต้น ดังนี้ แม้จำเลยที่ ๑ จะประกอบการค้าสินค้าคนละประเภทกับสินค้าของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ก็ยังมีโอกาสแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณและความเชื่อมั่นในกิจการของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดังกล่าวได้ และในกรณีดังกล่าวมานี้เมื่อปรากฏว่ากิจการของโจทก์เป็นกิจการขนาดใหญ่มากและเป็นกิจการที่ผลิตและจำหน่ายสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ซึ่งมีราคาสูง การที่มีบุคคลอื่นใช้ชื่อพ้องกับเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าของโจทก์ในการประกอบกิจการขนาดเล็กก็จะมีผลให้ผู้ที่มีความนิยมและเชื่อมั่นในกิจการของโจทก์อาจเข้าใจผิดว่าโจทก์ลดระดับลงมาทำกิจการขนาดเล็กด้วย และอาจคลางแคลงไม่มั่นใจในกิจการของโจทก์อันเป็นผลในทางลบที่ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์เสื่อมลงและความเชื่อมั่นในกิจการของโจทก์ลดลง ทั้งการที่จำเลยที่ ๑ ใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อห้างจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ก็ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรได้รับจากการขออนุญาตใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ในการประกอบการค้าของจำเลยที่ ๑ และไม่อาจควบคุมระดับคุณภาพกิจการของจำเลยที่ ๑ ที่มาใช้ชื่อพ้องกัน เพื่อรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ได้ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยใช้ชื่อว่า “บีเอ็มดับบลิว”จำเลยที่ ๑ ก็อาจใช้เป็นข้ออ้างสิทธิที่จะห้ามบุคคลอื่นมิให้ใช้ชื่อพ้องกันกับชื่อห้างจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๘ ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการใช้สิทธิจดทะเบียนบริษัทในเครือของโจทก์โดยใช้ชื่อดังกล่าวได้อีกด้วย จึงเห็นได้ว่าการใช้ชื่อว่า “บีเอ็มดับบลิว” ของจำเลยที่ ๑ ที่พ้องกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในพฤติการณ์ดังกล่าวมามีผลทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ และจำเลยทั้งสองซึ่งรู้จักเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์อยู่แล้วย่อมพึงคาดหมายได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองจะทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสองยังใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อห้างจำเลยที่ ๑โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่น ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมุ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์
ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้ชื่อดังกล่าวโดยสุจริต โดยการนำเอาอักษรตัวแรกของชื่อภรรยาและพี่ชายจำเลยที่ ๒ กับชื่อจำเลยที่ ๒ เอง คือชื่อ “บัญญัติ” “มงคล” และ “วิเศษณ์” มารวมกันตั้งเป็นชื่อว่า”BMW” เขียนเป็นภาษาไทยว่า “บีเอ็มดับบลิว” ซึ่งเป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อทางการค้าตามตำรับพ่อค้าคนจีนนั้น เห็นว่า เหตุผลที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าได้คิดชื่อห้างจำเลยที่ ๑ ขึ้นเองดังกล่าวโดยมิได้นำชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” ของโจทก์มาตั้งเป็นชื่อห้างจำเลยที่ ๑ นั้นจึงไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้
นอกจากนี้ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองประกอบการค้าขายเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องดับเพลิงและเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าฉุกเฉินเท่านั้น มิได้ค้าขายสินค้ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมทั้งอะไหล่และอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าวเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์แต่อย่างใด การใช้ชื่อห้างจำเลยที่ ๑ จึงไม่ก่อให้เกิดความสับสนต่อสาธารณชนในแหล่งที่มาของสินค้านั้น ก็ปรากฏตามหนังสือรับรองนิติบุคคลของจำเลยที่ ๑ เอกสารหมาย จ.๒ ว่าจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีวัตถุประสงค์ในข้อ ๑๓ เพื่อทำกิจการจำหน่ายสินค้าเครื่องยนต์และยานพาหนะซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ด้วย ดังนี้ จำเลยที่ ๑จึงอาจจำหน่ายสินค้าเครื่องยนต์และยานพาหนะเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์และอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในแหล่งที่มาของสินค้าได้ ตามพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังวินิจฉัยมาข้างต้นเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการใช้ชื่อพ้องกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วจะทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ แต่ยังจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ ในชื่อว่า “บีเอ็มดับบลิว” พ้องกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์และใช้ชื่อนี้ในกิจการค้าสินค้าของจำเลยทั้งสอง โดยมุ่งหมายที่จะนำชื่อเสียงเกียรติคุณอันมีคุณค่าของโจทก์มาใช้เป็นประโยชน์แก่กิจการค้าของตนโดยไม่สุจริต จำเลยที่ ๑ จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิใช้นามหรือชื่อดังกล่าวได้โดยชอบ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “BMW” ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕, ๑๘ และ ๔๒๑ โจทก์ผู้มีสิทธิโดยชอบที่จะใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวซึ่งต้องเสื่อมเสียประโยชน์จากการใช้ชื่อโดยมิชอบของจำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิห้ามจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการมิให้ใช้ชื่อดังกล่าว หรือให้เปลี่ยนชื่อเสียได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิห้ามมิให้จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนคำว่า “BMW” ของโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๗ ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองมิได้มีเจตนาหรือพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๗ พิเคราะห์แล้ว ปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ซึ่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๘ (๑๑)ห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปโดยเด็ดขาด ไม่ว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปคำว่า “BMW” ของโจทก์ยังได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยสำหรับสินค้ารถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และส่วนควบของรถ ครั้งแรกตั้งแต่วันที่๑๒ ตุลาคม ๒๕๐๙ ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๓๗๒๔๑ เอกสารหมายจ.๔๑ สินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า”BMW” ได้มีการจำหน่ายไปทั่วโลกเป็นเวลากว่า ๘๐ ปี แล้ว จำเลยทั้งสองเพิ่งนำคำว่า “บีเอ็มดับบลิว” มาจดทะเบียนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม๒๕๓๙ เมื่อเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนคำว่า “BMW” ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและกฎหมายห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ว่าสำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใดบุคคลผู้ไม่สุจริตย่อมไม่อาจนำเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW”ของโจทก์ไปใช้เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือชื่อสำนักงานการค้าของตนได้ แม้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือสำนักงานการค้านั้นจะประกอบการค้าขายสินค้าต่างจำพวกหรือต่างชนิดกับสินค้าของโจทก์ก็ตาม ดังนี้ เมื่อได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นว่า จำเลยทั้งสองนำชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “BMW” ของโจทก์หรือที่เรียกขานในประเทศไทยว่า “บีเอ็มดับบลิว” มาใช้โดยจดทะเบียนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ โดยไม่สุจริต โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนคำว่า “BMW” จึงมีสิทธิขัดขวางจำเลยทั้งสองในการใช้โดยไม่สุจริตซึ่งชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ อันเป็นชื่อสำนักงานการค้าของจำเลยทั้งสองและห้ามมิให้จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๗
พิพากษายืน.