คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 469/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการถอนอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ แต่มาตรา 246 ของลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลมคำฟ้องอุทธรณ์จึงเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3)กรณีต้องนำเรื่องการถอนฟ้องตามมาตรา 175 มาใช้บังคับกับการถอนคำฟ้องอุทธรณ์โดยอนุโลม โดยมาตรา 175(1) บังคับเพียงว่า ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอดหากมีก่อน แม้จะมีการคัดค้านการขอถอนคำฟ้องก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตได้ ทั้งการขอถอนคำฟ้องก็เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริตเพื่อเอาเปรียบในเชิงคดี ดังนั้น เมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยขอถอนอุทธรณ์ ก็ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่จะอนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 ประกอบด้วยมาตรา 175 ส่วนการที่โจทก์อ้างว่าจะทำให้ตนเสียเปรียบเพราะทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในกำหนดอายุความนั้น ก็มิใช่เงื่อนไขที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์แต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฐานละเมิด ให้รับผิดใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์นำเอามูลหนี้ซึ่งได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลให้มูลหนี้ระงับสิ้นไปแล้วมาฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องร้องเอาค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยทั้งสองได้อีกต่อไป ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง และขอสงวนสิทธิในการฟ้องคดีใหม่ไว้

ทนายจำเลยทั้งสองแถลงคัดค้านว่า ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การแล้ว ซึ่งจำเลยทั้งสองมีทางที่จะชนะคดี จึงขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นว่า โจทก์ทราบว่าคำฟ้องของโจทก์บกพร่องซึ่งหากดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โจทก์จะต้องแพ้คดีอย่างแน่นอนจึงขอถอนฟ้องเพื่อนำคดีมาฟ้องใหม่ให้สมบูรณ์ ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป

โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์มีความเห็นพ้องด้วยกับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทุกประการ ขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป โดยโจทก์ยินยอมที่จะเสียค่าฤชาธรรมเนียมตามระเบียบ

ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองอ้างว่าเพื่อมิให้เป็นการเสียเวลาและยุ่งยากในการพิจารณาคดีของศาล

โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้วยื่นคำร้องคัดค้านการขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองอ้างว่า ที่โจทก์ขอถอนคำฟ้องเพราะโจทก์ต้องการยื่นคำฟ้องใหม่ภายในอายุความ การยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีเจตนาไม่สุจริต กล่าวคือ หากมีการถอนอุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ไม่สามารถที่จะยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ ทำให้โจทก์เสียหาย ไม่ควรอนุญาตขอให้ยกคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองถอนอุทธรณ์ จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองถอนอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการถอนอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ แต่ตามมาตรา 246 ของลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม คำฟ้องอุทธรณ์ก็เป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการถอนคำฟ้องตามมาตรา 175 มาใช้บังคับเกี่ยวกับการถอนคำฟ้องอุทธรณ์โดยอนุโลม ซึ่งการถอนคำฟ้องในคดีแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175(1) บังคับเพียงว่า ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอดถ้าหากมีก่อนแม้จะมีการคัดค้านการขอถอนคำฟ้องก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตได้ และการขอถอนคำฟ้องก็เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายถือไม่ได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริตเพื่อเอาเปรียบในเชิงคดี ดังนั้น เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 และจำเลยทั้งสองขอถอนอุทธรณ์ก็ย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่จะพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 ประกอบด้วยมาตรา 175 คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองถอนอุทธรณ์ได้จึงชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว ข้อที่โจทก์อ้างว่า จะทำให้ตนเสียเปรียบเพราะทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถที่จะยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความมิใช่เงื่อนไขที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองถอนอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share