คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นบิดามารดาของผู้เยาว์ เป็นผู้มีฐานะดีมีรถใช้ในกิจการ 4 คัน ได้ยินยอมให้ผู้เยาว์ซึ่งมีอายุ 19 ปี 6 เดือน ขับรถไปใช้ได้ และได้ความว่าผู้เยาว์เป็นคนสายตาสั้น ดังนี้จำเลยย่อมรู้ดีว่าการขับรถของผู้เยาว์ย่อมเกิดอันตรายได้โดยง่าย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่บิดามารดาที่จะพึงดูแลบุตร เมื่อผู้เยาว์ขับรถของจำเลยไปทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยต้องรับผิดในผลที่ผู้เยาว์กระทำละเมิดด้วย
แม้ในระหว่างสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถที่เช่าซื้อมา แต่ผู้เช่าซื้อก็ชอบที่จะใช้ประโยชน์ของรถ และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อมีผู้ละเมิดทำให้รถที่เช่าซื้อเสียหาย ผู้เช่าซื้อจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ละเมิดได้ และเมื่อผู้เช่าซื้อตาย สิทธิดังกล่าวก็ตกทอดมายังทายาทที่จะฟ้องเรียกร้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2513 นายธนศักดิ์สามีนางอุดมรัตน์ โจทก์ ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฐ.5496 จากจังหวัดชลบุรี มากรุงเทพมหานคร ตามถนนบางนา – ตราด มีโจทก์ทั้งสี่คือนางอุดมรัตน์และบุตรอีกสามคน คือเด็กหญิงธนัศญา เด็กหญิงฐาปนีเด็กชายณัฐพงศ์ กับนางสาวคำไป สวัสดิ์รัตน์และนางจำลอง ภิรมย์รัตน์นั่งไปในรถ เมื่อถึงทางระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 13 กับ 14 ตำบลราชเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นายนเรศ จงกมานนท์ บุตรจำเลยทั้งสองขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ข. 2763 ของจำเลยที่ 1สวนทางมาโดยประมาท ชนรถยนต์คันที่นายธนศักดิ์ขับ เป็นเหตุให้นายธนศักดิ์ ชาตบุตร และนายนเรศ จงกมานนท์ ถึงแก่ความตายโจทก์และบุตรโจทก์ดังกล่าวทั้งสามคนและนางสาวคำไป สวัสดิ์รัตน์ นางจำลอง ภิรมย์รัตน์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์และบุตรได้รับความเสียหายโจทก์ขอเรียกร้องเพียง 300,000 บาท นายนเรศผู้เยาว์ขับรถยนต์โดยความยินยอมเห็นชอบและเพื่อประโยชน์ทางการค้าของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเป็นบิดามารดาต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของนายนเรศบุตรผู้เยาว์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าชำระหนี้เสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า นายนเรศ จงกมานนท์ได้รับใบอนุญาตให้ขับขี่รถยนต์จากกองทะเบียนกรมตำรวจเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนายนเรศ จงกมานนท์ วันเกิดเหตุนายนเรศ จงกมานนท์ ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปในกิจการส่วนตัวของนายนเรศ จงกมานนท์โดยปราศจากความรู้เห็นยินยอมของจำเลยทั้งสอง มิได้เกี่ยวข้องกับกิจการค้าของจำเลยทั้งสอง เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของนายธนศักดิ์ ชาตบุตร จำเลยทั้งสองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลปกครองนายนเรศ จงกมานนท์ ตามหน้าที่บิดามารดาอย่างดีแล้ว โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินสมควร รถคันเกิดเหตุของนายธนศักดิ์เป็นรถที่เช่าซื้อมา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายและค่าเสื่อมราคา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 202,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระหนี้เสร็จ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับรถยนต์ เป็นเงิน 34,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่เกิดรถชนกันนั้น เกิดจากความประมาทของนายนเรศฝ่ายเดียว และศาลล่างกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้นเป็นการสมควรแก่กรณีแล้ว

วินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่บิดามารดาที่จะพึงดูแลบุตรหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายนเรศอายุ 19 ปี 6 เดือน เป็นบุตรของจำเลยทั้งสองซึ่งมีฐานะดี จำเลยมีรถยนต์ใช้ในกิจการ 4 คัน รถยนต์คันที่นายนเรศขับไปชนนายธนศักดิ์นั้น เป็นรถยนต์คันหนึ่งของจำเลยโดยนายนเรศใช้กุญแจประจำคันเกิดเหตุขับไป น่าเชื่อว่านายนเรศขับรถไปโดยจำเลยยินยอมให้นำไปใช้ ที่จำเลยอ้างว่านายนเรศบุตรของตนหยิบกุญแจจากที่แขวนข้างตู้ในร้านไปโดยพลการนั้น รับฟังไม่ได้ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า นายนเรศเป็นคนสายตาสั้น จำเลยย่อมรู้ดีว่าการขับรถของนายนเรศในกรณีเช่นนี้ ย่อมเกิดอันตรายได้โดยง่าย ดังนั้น จำเลยจะอ้างว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่บิดามารดาที่จะพึงดูแลบุตรแล้วไม่ได้ จำเลยจึงไม่พ้นความรับผิด อนึ่ง ค่าซ่อมรถคันที่นายธนศักดิ์เช่าซื้อมา แม้อยู่ระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ นายธนศักดิ์ก็ชอบที่จะใช้ประโยชน์ของรถ และมีหน้าที่ต้องส่งคืนในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อ หากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ละเมิดทำให้เสียหายนายธนศักดิ์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ละเมิดได้ และสิทธิดังกล่าวตกทอดมายังโจทก์ผู้เป็นทายาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

พิพากษายืน

Share