คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4678/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน เมื่อคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่คืนเงินประกันการทำงานเพราะโจทก์ยังไม่คืนเอกสารสัญญาค้ำประกันการทำงานและยังไม่สามารถเรียกเก็บบิลที่พนักงานขายรับผิดชอบได้ทั้งหมด จึงยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลย การที่จำเลยไม่คืนเงินประกันการทำงานในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่คืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินประกันการทำงาน 5,000 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 24 ตุลาคม 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2551 จนถึงวันที่จำเลยนำเงินมาวางศาล (วันที่ 9 มีนาคม 2552) แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งพนักงานขายต่างจังหวัดอัตราค่าจ้างเดือนละ 5,000 บาท โดยเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากโจทก์ 50,000 บาท พนักงานขายของจำเลยต้องปฏิบัติตามระเบียบพนักงานขาย ซึ่งข้อ 6 ระบุว่า การคืนค้ำประกันจะคืนก็ต่อเมื่อบริษัทได้ตรวจสอบแล้วไม่เกิดความเสียหายต่อบริษัท และบิลที่พนักงานขายรับผิดชอบจะต้องเรียกเก็บเงินได้ทั้งหมดแล้ว กรณีเป็นเช็คจะต้องสามารถเรียกเก็บเรียบร้อยแล้วทุกใบ และข้อ 10 ระบุว่า การลาออกจากการเป็นพนักงานขายต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า 1 เดือน และในวันสุดท้ายที่ปฏิบัติงาน จะต้องคืนเอกสารต่างๆ ให้ครบด้วยตนเองเท่านั้น ต่อมาโจทก์ลาออกจากงานโดยที่ยังไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าสินค้า 1,750 บาท จากนายแพทย์ศิริวัฒน์และยังไม่คืนสัญญาค้ำประกันแก่จำเลย ครั้นจำเลยได้คืนเงินประกันการทำงาน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 734.80 บาท แก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินประกันการทำงานในส่วนที่ขาดอีก 5,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยแต่ไม่ให้เงินเพิ่มโดยวินิจฉัยว่า การเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2540 มาตรา 9 วรรคสอง ต้องเป็นกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหลักประกันที่เป็นเงินโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร แต่คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยังไม่คืนเอกสารและยังไม่สามารถเรียกเก็บบิลที่พนักงานขายรับผิดชอบได้ทั้งหมด ถือได้ว่ามีเหตุให้จำเลยเชื่อว่าสามารถระงับการคืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เป็นการจงใจไม่คืนโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยจงใจไม่คืนเงินประกันโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยต้องจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิระงับการคืนเงินประกันการทำงานของโจทก์เพราะโจทก์ไม่จำเป็นต้องคืนสัญญาค้ำประกันการทำงานของโจทก์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และการที่จำเลยยังไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากนายแพทย์ศิริวัฒน์ ได้เกิดจากจำเลยไม่ดำเนินการเก็บเงินเองนั้น เห็นว่า โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มจากจำเลยได้หรือไม่จักต้องพิจารณาจากมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคแรกโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเจ็ดวัน เมื่อคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่คืนเงินประกันการทำงานในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ยังไม่คืนเอกสารสัญญาค้ำประกันการทำงานและยังไม่สามารถเรียกเก็บบิลที่พนักงานขายรับผิดชอบได้ทั้งหมด เงินประกันการทำงานในส่วนที่ขาดจึงยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าจำเลยระงับการคืนให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ การที่จำเลยไม่คืนเงินประกันการทำงานในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์จึงยังมีเหตุอ้าง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่คืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share