แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้รวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์แยกกัน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 62,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 56,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 148,893 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 133,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงไม่เกินคนละ 200,000 บาท ย่อมต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 62,650 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 56,000 บาท ให้จำเลยชดใช้เงิน 253,956 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 227,000 บาท ให้จำเลยชดใช้เงิน 148,893 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 133,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 62,650 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 56,000 บาท จำนวน 253,956 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 227,000 บาท และจำนวน 148,893 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 133,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 มกราคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า เมื่อพิจารณามูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้กับมูลหนี้ตามคำฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5639/2556 แล้ว มีจำนวนมูลหนี้ที่แตกต่างกัน ประกอบกับตามรายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5639/2556 ก็ไม่ได้กล่าวถึงหนังสือรับสภาพหนี้ว่าสิ้นผลบังคับเนื่องจากจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสามเป็นที่เสร็จสิ้นแล้ว การที่จำเลยนำสืบเพียงลอยๆ อ้างว่ามูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้น เป็นมูลหนี้เดียวกับในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5639/2556 นั้น จึงไม่มีน้ำหนัก พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้รวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 แยกกัน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 62,650 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 56,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 148,893 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 133,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงไม่เกินคนละ 200,000 บาท ย่อมต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยในส่วนของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาจำเลยในส่วนของโจทก์ที่ 2 นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ