แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ประกอบธุรกิจด้วยการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าซึ่งทำได้หลายวิธี จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์แม้จะเรียกชื่อวิธีการก่อให้เกิดหนี้ แต่ก็ล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์นั่นเอง มูลหนี้ตามฟ้องทั้งสองประเภทจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาเป็นคดีเดียวกันได้ โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องสูงสุดตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) ก. ชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมโดยแยกเป็นมูลหนี้แต่ละประเภท จึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ประเภทเบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและนายสมหวัง อุดมสิทธิกุล ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นประกันหนี้ในวงเงินจำนอง 16,000,000 บาท ตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นจนครบ หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีหลายครั้งและนำเงินเข้าบัญชีหักทอนบัญชีคงค้างชำระต้นเงิน 8,288,058.50 บาท ดอกเบี้ย 342,421.04 บาท รวมเป็นเงิน 8,630,479.54 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งห้าฉบับถึงกำหนด โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงค้างชำระเงินต้นแก่โจทก์จำนวน 7,000,000 บาท ดอกเบี้ย 576,883.48 บาท รวมเป็นเงิน 7,576,883.48 บาท รวมยอดหนี้ทั้งสองประเภทถึงวันฟ้องเป็นต้นเงิน 16,207,363.02 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 16,207,363.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 14.5 ต่อปีของต้นเงิน 15, 288,058.50 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์สินจำนองและทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื่องจากตามฟ้องของโจทก์ ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาเป็นหนี้ 2 ประเภท คือหนี้เบิกเกินบัญชีและหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลรวมมาซึ่งไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในหนี้แต่ละประเภทให้ถูกต้อง
โจทก์วางเงินค่าขึ้นศาลเพิ่มอีก 189,422.50 บาท และทำคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 16,207,363.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ในต้นเงิน 15,288,058.50 บาท นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2543 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เสร็จสิ้น หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4931, 5218, 5219, 5719 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนที่ค้างกันอยู่ เงินที่ขาดอยู่จำนวนเท่าใด จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในเงินนั้น และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัย มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงรวมฟ้องมาในคดีเดียวกันและเสียค่าขึ้นศาลตามอัตราสูงสุดได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ประกอบธุรกิจด้วยการให้สินเชื่อแก่ลูกค้า ซึ่งทำได้หลายวิธี จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์ แม้จะเรียกชื่อวิธีการก่อให้เกิดหนี้ต่างกันแต่ก็ล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์นั่นเอง มูลหนี้ตามฟ้องทั้งสองประเภทจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาเป็นคดีเดียวกันได้ โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1) ก. ชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมโดยแยกเป็นมูลหนี้แต่ละประเภท จึงเป็นการเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเก็บเกินจากสองแสนบาทแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ