แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยผลิตเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จำเลยก็ประสงค์ที่จะมีเมทแอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีนตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง และนำสืบมาก็เป็นผลที่ได้มาจากการผลิตของจำเลยเอง การผลิตกับการมีเมทแอมเฟตามีนของจำเลยเป็นการกระทำเกี่ยวพันต่อเนื่องกัน ไม่อาจแยกได้ว่าเป็นการผลิตตอนหนึ่ง การมีไว้ในครอบครองเป็นอีกตอนหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำครั้งเดียวอันเป็นความผิดกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13, 59, 62, 89, 106, 116ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520) เรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ พ.ศ. 25188 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 6 พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงจะได้วินิจฉัย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่4 พฤศจิกายน 2530 เวลากลางวัน พนักงานป้องกันและปรามปรามยาเสพติดจับจำเลยได้พร้อมของกลางตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย จ.4 คงมีข้อโต้แย้งกันโดยโจทก์กล่าวหาว่าของกลางเหล่านี้จำเลยได้ใช้ผลิตเมทแอมเฟตามีน จำเลยอ้างว่าเป็นของนายเส็งฝากไว้ ข้อที่จำเลยอ้างว่านายเส็งฝากไว้นั้น จำเลยก็มิได้นำนายเส็งมาสืบว่าเป็นของนายเส็ง นายเส็งมีความสัมพันธ์อย่างไรกับจำเลยจึงได้เกรงใจรับฝากของไว้ ทั้งโจทก์มีคำรับสารภาพชั้นจับกุมว่าจำเลยได้ร่วมกับนายโค้วชาวฮ่องกง มีอุปกรณ์ตามบัญชีกลางไว้เพื่อทำการผลิตหัวเชื้อยาม้า ในคำรับสารภาพนั้นยังบอกถึงกรรมวิธีผลิตยาม้า และไปเช่าบ้านที่ริมคลองภาษีเจริญไว้อีกแห่งหนึ่งเพื่อไว้เป็นที่ผสมสารเคมีก่อนที่จะมาทำเป็นเกล็ด นอกจากนั้นยังปรากฏว่าที่ถังสแตนเลสยังมีคราบเมทแอมเฟตามีนที่แสดงว่าถังสแตนเสลดังกล่าวใช้ใส่เมทแอมเฟตามีนมาแล้ว จึงเชื่อได้ว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนจริง แม้ว่าขณะเข้าทำการจับกุมจำเลยมิได้ทำการผลิตในขณะนั้นก็ตาม จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13, 89 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามฟ้อง ข้อ ข.คือมีคราบเมทแอมเฟตามีนที่ถังสแตนเลสจำนวนน้อยไม่อาจชั่งหาน้ำหนักได้นั้น เห็นว่าในการผลิตเมทแอมเฟตามีนจำเลยก็ประสงค์ที่จะมีเมทแอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีนตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องและนำสืบมาก็เป็นผลที่ได้มาจากการผลิตของจำเลยเองการผลิตกับการมีเมทแอมเฟตามีนของจำเลยเป็นการกระทำเกี่ยวกันต่อเนื่องกัน ไม่อาจแยกได้ว่าเป็นการผลิตตอนหนึ่ง การมีไว้ในครอบครองเป็นอีกตอนหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำครั้งเดียวอันเป็นความผิดกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ให้ใช้บทกฎหมายที่มีโทษหนังที่สุดลงโทษ คือ มาตรา 13, 89”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13, 62, 89, 106ให้ลงโทษตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง มาตรา 89 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คดีมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี 4 เดือนของกลางริบ