คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ทำละเมิดเป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดในขณะปฏิบัติการงานของจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ที่รับมอบหมายพนักงานหรือคนงานดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผู้แทนอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 แม้พนักงานหรือคนงานผู้ทำละเมิดเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพนักงานหรือคนงานดังกล่าวต่างก็เป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 และต่างปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยที่ 1 ด้วยกัน จึงอยู่ในฐานะนายงานกับคนงานเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนผิดในการออกคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานจนเกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถว 3 ชั้น เลขที่ 43จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหัวหน้าเขตจำหน่ายบางกะปิจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาครอบครองอาคารทรัพย์สินของจำเลยที่ 1มิได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ เป็นเหตุให้เพลิงไหม้อาคารไม้ชั้นเดียวซึ่งเป็นที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ของจำเลยที่ 1 และลุกลามไหม้อาคารตึกของโจทก์ทั้งสามตลอดจนทรัพย์สินในอาคารเสียหายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ในขณะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกจ้างและทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 427,420 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 397,600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2มีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมบังคับบัญชาพนักงานของฝ่ายจำหน่ายที่ประจำอยู่เขตบางกะปิ มิได้มีหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบพนักงานฝ่ายอื่น ในวันเกิดเหตุเพลิงไหม้ จำเลยที่ 2 ก็มิได้มาปฏิบัติงาน สำหรับจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งช่างเทคนิคสายอากาศ 5 มีหน้าที่ทำการประมาณราคาค่าใช้จ่ายรวมทั้งออกสำรวจและทำแผนที่สถานที่ของผู้ขอใช้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเวรแก้ไฟฟ้าขัดข้อง จึงได้มาปฏิบัติงาน และได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่อาคารคนละอาคารกับที่จำเลยที่ 3 ปฏิบัติงาน จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นผู้ก่อหรือประมาททำให้เกิดเพลิงไหม้ จึงมิต้องรับผิดจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมิต้องรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เชื่อว่าเหตุที่เกิดเพลิงไหม้คดีนี้เกิดจากพนักงานหรือคนงานคนใดคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เข้าไปใช้ห้องเก็บของในอาคารที่เกิดเหตุในระหว่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ แล้วทิ้งวัตถุติดไฟไว้โดยความประมาทเลินเล่อจึงเกิดไหม้ลุกลามออกไปจนไหม้ตึกแถวของโจทก์ มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดเพียงใดหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น จากคำให้การชั้นสอบสวนของนายประสิทธิ์ รัตนสุทธิกุล พนักงานของจำเลยที่ 1ตำแหน่งหัวหน้ากองธุรการทรัพย์สิน ฝ่ายบริการทั่วไป ตามสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย จ.9 ประกอบกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าเขตจำหน่ายบางกะปิ และมีหน้าที่ควบคุมดูแลอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อยู่ด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าเวรแก้ไฟเสีย ซึ่งมาปฏิบัติงานในวันเกิดเหตุ เห็นว่าแม้จำเลยที่ 2 จะมีหน้าที่ควบคุมดูแลอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ก็ตาม แต่ได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายประสิทธิ์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มียามรักษาการณ์บริเวณการไฟฟ้านครหลวงเขตบางกะปิอยู่3 จุด คือประตูใหญ่ด้านหน้า อาคารที่ว่าการและคลังพัสดุ ไม่ได้ความจากพยานของฝ่ายใดเลยว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องจัดเวรยามดูแลอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะวันเกิดเหตุก็เป็นวันหยุดงาน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องมาอยู่เวรยามหรือตรวจตราเจ้าหน้าที่ และโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนจำเลยที่ 3 นั้นแม้จะได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าเวรแก้ไฟเสียในวันเกิดเหตุก็ได้ความว่ามีหน้าที่เพียงจัดเวรพนักงานออกไปตรวจแก้ไฟฟ้าขัดข้องนอกที่ทำการ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการใช้อาคารที่เกิดเพลิงไหม้ด้วยทั้งการใช้อาคารดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่พนักงานของจำเลยที่ 1 ใช้กันเป็นประจำ ทั้งในวันเปิดทำการและวันหยุดดังที่ได้ความมาข้างต้น จึงถือได้ว่าการใช้อาคารที่เกิดเพลิงไหม้ในลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้เพื่อปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายกันตามปกติเป็นประจำ จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3ประมาทเลินเล่อในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนเช่นกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ทำละเมิดต่อโจทก์คือพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อในขณะปฏิบัติหน้าที่การงานของจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัยมาแล้ว และแม้พนักงานหรือคนงานเหล่านี้อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3และพนักงานหรือคนงานดังกล่าวต่างเป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 และต่างปฏิบัติงานในหน้าที่ให้จำเลยที่ 1 ด้วยกัน จึงอยู่ในฐานะนายงานกับคนงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3มีส่วนผิดในการออกคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานจนเกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น แม้จะไม่ได้ความว่าผู้ทำละเมิดเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ทำละเมิดเป็นพนักงานหรือคนงานของจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดในขณะปฏิบัติการงานของจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ที่รับมอบหมาย พนักงานหรือคนงานดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผู้แทนอื่น ๆของจำเลยที่ 1 เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์จำเลยที่ 1ก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 จำเลยที่ 1 จะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 206,650 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2526จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share