คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 111/2528

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์กล่าวโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ตามคำสั่งศาล สมคบกับจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์มรดกส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวแล้วจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม ขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว แม้จะกล่าวว่าเป็นการฉ้อฉล ก็หาได้ทำให้สาระสำคัญของคำฟ้องเสียไปไม่ และโจทก์ไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีกว่าจำเลยที่ 2 ใช้วิธีการฉ้อฉลอย่างไร การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกทั้งหมดมาเป็นของตนผู้เดียว ย่อมเป็นการกระทำที่ผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดก เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทย่อมมีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน3 โฉนด และเรือนไม้ 1 หลัง จากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว และนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสีย คำขอที่ให้กำจัดจำเลยที่ 2มิให้รับมรดกให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและเรือนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน โดยเป็นบุตร นายชั้นบุญทิม และนางจอน บุญทิม จำเลยที่ 1 นายชั้น บุญทิม มีที่ดินมีโฉนด3 แปลงพร้อมบ้าน 1 หลัง เป็นสินสมรสระหว่างนายชั้นและจำเลยที่ 1เมื่อนายชั้นถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 เป็นผู้แนะนำพาจำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายชั้น เพราะจำเลยที่ 1 เป็นหญิงชราอายุ 80 ปี อ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ และต่อมามีการโอนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของนายชั้นทั้ง 3 แปลง มาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก และในวันเดียวกันนั้นเองก็มีการจดทะเบียนโอนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับมรดกแต่ผู้เดียวแล้วจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2

สำหรับปัญหาตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อแรก จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายสภาพแห่งข้อหาให้จำเลยที่ 2เข้าใจว่า จำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์อย่างไรนั้น เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์กล่าวโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชั้นตามคำสั่งศาลสมคบกับจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์มรดกส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวแล้วจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวแม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่าเป็นการฉ้อฉล ก็หาได้ทำให้สาระสำคัญของคำฟ้องเสียไปไม่และโจทก์ก็ไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีกว่า จำเลยที่ 2 ใช้วิธีการฉ้อฉลอย่างไรคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้างไม่อาจใช้เป็นบรรทัดฐานในเรื่องนี้ได้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นมรดก เพื่อให้การแบ่งทรัพย์มรดกลุล่วงไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมีอำนาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกได้ก็ตาม แต่ก็ต้องกระทำไปเพื่อให้การแบ่งทรัพย์มรดกลุล่วงไปเท่านั้น จะโอนทรัพย์มาเป็นของตนแต่ผู้เดียวโดยพลการไม่ได้ ถ้าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะโอนขายทรัพย์มรดกเพื่อเอาเงินมาแบ่งปันระหว่างทายาทจริงตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ก็หาจำเป็นที่จะต้องโอนมาเป็นของจำเลยที่ 1 ก่อนแล้ว จึงโอนขายให้จำเลยที่ 2 เช่นนี้ไม่เพราะจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมโอนขายให้จำเลยที่ 2 ได้โดยตรง การที่จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์มรดกทั้งหมดมาเป็นของตนผู้เดียวย่อมเป็นการกระทำที่ผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกและถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นกากรระทำโดยปราศจากอำนาจ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทย่อมมีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวได้ ทั้งจำเลยที่ 2ก็เป็นพี่น้องท้องเดียวกับโจทก์ทั้งห้า ย่อมจะรู้ดีถึงสิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย กลับป้องกันขัดขวางไม่ให้จำเลยที่ 1 บอกให้โจทก์ทราบจึงไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริตได้ ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าโจทก์บางคนและจำเลยที่ 1 ไปขอเงินเพิ่มภายหลังนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการโอนที่ดินมาเป็นของจำเลยที่ 2 เรียบร้อยแล้วพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นอันพับไป

Share