แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ข้อกิจการจำนองเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2521 ต่อมาอีก 3 วัน คือวันที่ 29 พฤษภาคม2521 จำเลยที่ 2 ได้มาทำสัญญาจำนองเครื่องจักรเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาจดทะเบียนเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ข้อกิจการจำนองเพื่อมาทำสัญญาจำนองเครื่องจักรแก่โจทก์ตามฟ้อง ดังนี้ เมื่อต่อมาภายหลังคือวันที่ 1 มิถุนายน 2521นายทะเบียนรับจดทะเบียนเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ข้อกิจการจำนองให้ตามที่จำเลยที่ 2 ขอจดทะเบียนแล้ว แม้วัตถุประสงค์ข้อกิจการจำนองนั้น ยังไม่ได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาก็ตามฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกก็อาจถือเอาประโยชน์จากการขอจดทะเบียนเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ในข้อกิจการจำนองของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวได้แล้ว ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1023 สัญญาจำนองผูกพันจำเลยที่ 2 ได้. สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แก่โจทก์ มีจำเลยที่ 4ลงชื่อและประทับตราห้างจำเลยที่ 2 ในขณะทำสัญญานั้น จำเลยที่ 2จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตัวหุ้นส่วนผู้จัดการจากจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยที่ 3 แล้ว แสดงว่าหลังจากจำเลยที่ 3 เข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการสืบต่อจากจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 3 ยังคงยอมให้จำเลยที่ 4 ครอบครองตราของห้างอยู่ และเมื่อจะทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ก็ยินยอมให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการเสมือนยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามเดิม โดยจำเลยที่ 3 มิได้ทักท้วงว่ากล่าวหรือแจ้งให้โจทก์ทราบพฤติการณ์บ่งชัดว่าจำเลยที่ 3 เชิดจำเลยที่ 4 ให้แสดงออกเป็นตัวแทนของตนในการทำสัญญาค้ำประกันในนามห้างจำเลยที่ 2ซึ่งโจทก์มิได้ล่วงรู้ข้อความจริงจำเลยที่ 2 จึงจำต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างต่อโจทก์ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ เป็นหนี้โจทก์อยู่ 3 รายการรวมเป็นหนี้ทั้งหมดคิดถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2526เป็นเงิน 14,884,945.84 บาท หนี้ทั้งสามรายการดังกล่าว มีนางสุวรรณา และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและนำหลักทรัพย์มาจำนองเป็นประกันโดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่าถ้าบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์จำนองไม่พอให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นชำระจนครบ ต่อมานางสุวรรณา ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 4ถึงที่ 10 ในฐานะทายาทจึงต้องรับผิดในหนี้ของนางสุวรรณา และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วจำเลยต่างไม่ยอมชำระ จึงขอให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชำระเงินค่าใช้จ่ายในการบังคับจำนองอีก 500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น14,885,445.84 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 1,813,557.19 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 7,809,670 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 และทรัพย์สินอื่น ๆ ในกองมรดกของนางสุวรรณา ขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 และสัญญาจำนองเครื่องจักร ผู้ที่ลงชื่อในสัญญาไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 และการกระทำดังกล่าวอยู่นอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2ด้วย จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้การว่า ยอดหนี้ทั้งสามรายการไม่ถูกต้อง นางสุวรรณา ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 8 และที่ 9 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 10 เพราะโจทก์ถอนฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์เป็นการไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 7,791,091.90 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 1,182,311.52 บาทนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2524 ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 3,335,680.38 บาท นับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2522ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 3,273,100 บาท นับแต่วันที่12 มกราคม 2522 จนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องขายทอดตลาดชำระหนี้ หากยังไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ชำระจนครบ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ในกองมรดกของนางสุวรรณา สุวิพร ขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ขึ้นสู่ศาลฎีกามีว่า สัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แก่โจทก์ผูกพันจำเลยที่ 2และมีผลถึงจำเลยที่ 3 หรือไม่ ปรากฏว่าในขณะทำสัญญาจำนองเครื่องจักรตามฟ้องในบริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 4 และนางสุวรรณาเป็นกรรมการซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนในห้างจำเลยที่ 2 ก็มีจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและมีนางสุวรรณา เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่ง ดังนี้ ในเบื้องต้นจึงเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจจัดการจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นเป็นชุดเดียวกัน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 จะนำทรัพย์สินของตนมาจำนองแก่โจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้เงินทุนมาหมุนเวียนใช้จ่ายในกิจการของจำเลยที่ 1 ย่อมเกิดมีขึ้นได้เป็นธรรมดา ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือสัญญาจำนองและคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนในวันที่ 26 พฤษภาคม 2521 ต่อมาอีก 3 วัน คือ ในวันที่29 พฤษภาคม 2521 จำเลยที่ 2 ได้มาทำสัญญาจำนองเครื่องจักรเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาจะจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ข้อกิจการจำนองดังกล่าวเพื่อมาทำสัญญาจำนองเครื่องจักรแก่โจทก์ตามฟ้อง ดังนี้ เมื่อต่อมาภายหลังในวันที่ 1 มิถุนายน 2521 นายทะเบียนรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ในข้อกิจการจำนองให้ตามที่จำเลยที่ 2 ขอจดทะเบียนแล้ว แม้วัตถุประสงค์ข้อกิจการจำนองอันเป็นข้อความซึ่งบังคับให้จดทะเบียนนั้น ยังไม่ได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาก็ตาม แต่ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกก็อาจถือเอาประโยชน์จากการขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ในข้อกิจการจำนองของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวได้แล้วตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1023 สัญญาจำนองจึงผูกพันจำเลยที่ 2 ส่วนกรณีสัญญาค้ำประกันนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แก่โจทก์ มีจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะทำสัญญานั้น จำเลยที่ 2ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตัวหุ้นส่วนผู้จัดการจากจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยที่ 3 แล้ว ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าหลังจากจำเลยที่ 3 เข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการสืบต่อจากจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 3 ยังคงยอมให้จำเลยที่ 4 ครอบครองตราของห้างอยู่และเมื่อจะทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ ก็ยินยอมให้จำเลยที่ 4เป็นผู้ดำเนินการเสมือนยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามเดิม โดยจำเลยที่ 3 มิได้ทักท้วงว่ากล่าวหรือแจ้งให้โจทก์ทราบแต่ประการใดพฤติการณ์บ่งชัดว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนใหม่ของห้างจำเลยที่ 2 ตั้งใจเชิดจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดิมให้ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการทำสัญญาค้ำประกันนั้นในนามของห้างจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ก็มิได้ล่วงรู้ข้อความจริงเช่นว่านั้น ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เมื่อสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกัน มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของห้างด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3ต่อโจทก์ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.