คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4669/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเกษตรอำเภอทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยเกษตรจังหวัดได้ไปรื้อค้นสำนักงานและโต๊ะทำงานของจำเลยขณะจำเลยไม่อยู่ ปรากฏว่าเงินที่จำเลยเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานสูญหายไป จำเลยย่อมมีเหตุที่จะสงสัยว่าโจทก์อาจเป็นคนร้ายลักเงินไป จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์บุกรุกสำนักงานและลักทรัพย์ โดยแจ้งรายละเอียดและพฤติการณ์ของโจทก์พร้อมทั้งระบุด้วยว่าจำเลยทราบเรื่องจากผู้ใด ดังนี้ แม้จะได้ความว่าโจทก์ไปตรวจราชการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยไม่มีพยานหลักฐานว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จ อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 และที่จำเลยทำบันทึกถึงนายอำเภอมีข้อความทำนองเดียวกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 179
การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 ต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งแกล้งแจ้งข้อความให้ผิดไปจากความจริง การที่แจ้งข้อกล่าวหาคลาดเคลื่อนไปจะถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเสมอไปหาได้ไม่ เช่นเดียวกับการตั้งข้อหาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งข้อหาตามข้อกล่าวหาของผู้แจ้งความเสมอไปเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๒, ๑๗๓, ๑๗๔, ๑๗๙
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงประทับรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๒, ๑๗๙, ๙๑ ลงโทษตามมาตรา ๑๗๒
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่จำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่เห็นว่าการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๒ นั้นได้แก่กรณีที่ผู้แจ้งข้อเท็จจริงเป็นเท็จโดยแกล้งกล่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาให้ผิดไปจากความจริงส่วนการตั้งข้อหานั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งข้อหาตามข้อกล่าวหาของผู้แจ้งเสมอไป กรณีที่ผู้แจ้งแจ้งข้อกล่าวหาคลาดเคลื่อนจะถือว่าผู้แจ้งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเสมอไปหาได้ไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอจอมบึงว่า ‘ผู้แจ้งรับราชการตำแหน่งเกษตรอำเภอจอมบึงเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๕ ผู้แจ้งไปติดต่อราชการที่สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันตกอำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรีไม่ได้มาปฏิบัติงานที่สำนักงานเกษตรครั้นวันนี้เวลา ๐๘.๐๐ น.เศษผู้แจ้งมาปฏิบัติราชการตามปกติพบว่าลิ้นชักโต๊ะทำงานของผู้แจ้งถูกรื้อคนจึงได้ตรวจสอบเอกสารและทรัพย์สินปรากฏว่าเงินสดจำนวน ๕๐๐ บาท ซึ่งผู้แจ้งใส่ซองของทางราชการเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะหายไปจึงสอบถามนางธาสินี เอี่ยมชื่นและนางสาวอรุณี มากมาเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานได้ความว่าเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๒๕ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ นาฬิกานายจัตุรากรณ์ ทองประไพผู้ช่วยเกษตรจังหวัดราชบุรีเป็นผู้มารื้อค้นโต๊ะทำงานของผู้แจ้งจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวรายงานข้อเท็จจริงและรายงานให้นายอำเภอจอมบึงทราบการที่นายจัตุรากรณ์มารื้อค้นโต๊ะทำงานของผู้แจ้งผู้แจ้งเห็นว่านายจัตุรากรณ์ได้บังอาจบุกรุกสำนักงานและลักเอาทรัพย์สิน (เงินสดจำนวน ๕๐๐ บาท) ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้แจ้งไปจึงมาแจ้งเพื่อให้ดำเนินคดีกับนายจัตุรากรณ์ตามกฎหมาย’ การที่จำเลยแจ้งความดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนเป็นการแจ้งให้ทราบโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยได้รับทราบมาจากคำบอกเล่าของนางสาวอรุณีและนางธาสินีมิได้ยืนยันว่าจำเลยรู้เห็นด้วยตนเองข้อกล่าวหาที่ว่าโจทก์บุกรุกสำนักงานเป็นเพียงการแสดงความเห็นไม่ใช่ยืนยันข้อเท็จจริง ฉะนั้นถึงแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าการที่โจทก์เข้าไปในสำนักงานเกษตรอำเภอจอมบึงเป็นกรณีที่โจทก์เข้าไปตรวจราชการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกสำนักงานเป็นความเท็จจำเลยไม่มีความผิด ส่วนข้อที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์ลักเงินจำนวน ๕๐๐ บาทซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีผู้บริจาคเงิน ๕๐๐ บาทเพื่อให้จำเลยมอบให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่จำเลยเห็นสมควรจำเลยจึงเก็บเงินนั้นไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานวันที่โจทก์ไปตรวจราชการโจทก์นั่งที่โต๊ะทำงานของจำเลยต่อมาวันรุ่งขึ้นจำเลยพบว่าเงินหายไป ดังนี้เห็นว่าการที่โจทก์ไปนั่งที่โต๊ะทำงานของจำเลยในขณะที่จำเลยไม่อยู่และเงินบริจาคซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายไปจำเลยย่อมมีเหตุที่จะสงสัยว่าโจทก์อาจเป็นคนร้ายลักเงินจำนวนดังกล่าวการที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยโดยแจ้งรายละเอียดและพฤติการณ์ของโจทก์ตามความเป็นจริงถึงแม้จำเลยจะไม่มีพยานหลักฐานว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าคำแจ้งความของจำเลยเป็นความเท็จจำเลยไม่มีความผิด
สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๙ นั้นข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้ทำบันทึกเสนอต่อนายอำเภอจอมบึงรายงานข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรายงานการกระทำของโจทก์ตามที่ได้รับคำบอกเล่าจากนางสาวอรุณีและนางธาลินีซึ่งมีข้อความทำนองเดียวกันกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ฉะนั้นจึงถือไม่ได้ว่าบันทึกดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จโดยเหตุผลนัยเดียวกันกับที่กล่าวข้างต้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด
พิพากษายืน.

Share