เรื่อง เช่าซื้อ (รถยนต์) ค้ำประกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7234/2561
ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
การที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนแก่โจทก์และโจทก์รับรถยนต์ไว้ก่อนที่โจทก์จะส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อทำการเช่าซื้อต่อไปนั้นเกิดจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและโจทก์มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยที่ 2 ขอให้ชำระค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญา การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อปฏิเสธความรับผิด ประกอบกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 จึงย่อมมีอำนาจที่จะเข้าดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปัดป้องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกหนี้ร่วมคนอื่นได้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์มีการทวงถามเป็นหนังสือให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน 30 วัน และบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยที่ 2 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนแก่โจทก์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่มีสิทธิชำระหนี้แล้วหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกันตามสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อและโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาโดยชอบ การที่จำเลยที่ ๒ นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนแก่โจทก์ถือว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ตัวแทนเป็นคนนำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน เมื่อโจทก์รับไว้โดยไม่ได้โต้แย้ง พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าคู่สัญญาต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยปริยายในวันที่มีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไปซึ่งรวมถึงสัญญาค้ำประกันที่เป็นหนี้อุปกรณ์ด้วย ส่วนการที่หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อขอชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อต่อไปก็เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อกันใหม่โดยใช้หลักฐานสัญญาเช่าซื้อเดิมเท่านั้นโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์หลังจากที่จำเลยที่ 2 นำรถไปคืน หรือมีการพยายามติดตามรถยนต์เช่าซื้อ แต่เป็นเพราะสาเหตุที่มีการทวงถามให้ชำระหนี้จากโจทก์เท่านั้น ไม่ถึงขนาดให้รับฟังว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นหรือให้ความยินยอมค้ำประกันกับการที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกันใหม่ ทั้งไม่อาจนำข้อตกลงในสัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อที่ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ และเจ้าของไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10.1 โดยยินยอมให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อหรือเงินจำนวนใด ๆ ที่ผิดนัดตามสัญญาข้อ 16 ต่อไป ผู้เช่าซื้อหรือบุคคลซึ่งต้องร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อยังต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของสัญญาที่เป็นเหตุให้มีการผิดนัดโดยเคร่งครัด…” หรือข้อตกลงเรื่องการที่ผู้ให้เช่าซื้อขยายเวลาหรือผ่อนผันประการอื่นแก่ผู้เช่าซื้อตามสัญญาค้ำประกันมาใช้บังคับได้เนื่องจากก่อนมีการคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยจำเลยที่ 2 โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ประกอบกับสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 สิ้นผลผูกพันไปแล้วด้วยความระงับของสัญญาเช่าซื้อเดิม และเมื่อเป็นการสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อเดิมกันโดยปริยาย คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามสัญญาเช่าซื้อเดิมย่อมมีเพียงเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 391 วรรคสาม แต่เมื่อหลังจากโจทก์รับคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อไปแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดพร้อมกับภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าเบี้ยปรับ โจทก์จึงมอบการครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อต่อไป จึงไม่มีหนี้ค่าใช้ทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามสัญญาเช่าซื้อเดิมต้องรับผิดอีก จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
(ฎีกา 7234/2561)