คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4661/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์แนบเอกสารท้ายฟ้องอันแสดงถึงการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ผิดพลาด โดยแนบสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลอื่น การแนบเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวก็เพื่อให้ชัดเจนถึงฐานะของโจทก์ไม่ใช่หลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี และจำเลยก็ให้การยอมว่าเคยเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ เท่ากับเป็นการรับรองว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลแล้ว การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับการเป็นนิติบุคคลของโจทก์โดยแนบหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ฉบับที่ถูกต้องภายหลังที่โจทก์ได้สืบพยานไปแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าวได้กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลมาแต่ต้นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบธุรกิจเงินทุนเพื่อการพาณิชย์โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์และหนังสืออนุญาตของกระทรวงการคลังเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1, 2 จำเลยในขณะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 1,729,000 บาท กับค่าเสียหายคิดเป็นดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงิน 2,370,736.74 บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,729,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยเคยเป็นกรรมการของบริษัทโจทก์ จำเลยมิได้ทำให้โจทก์เสียหายขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,729,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 มีนาคม 2532) ย้อนหลังไปมีกำหนด 5 ปีและนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากตามคำฟ้องระบุชื่อโจทก์ว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จักรวาลทรัสต์ จำกัด แต่ตามหลักฐานการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งเป็นหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดฟูหงวนเทรดดิ้ง ไม่ตรงกับคำฟ้อง โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล การมอบอำนาจให้นายวัชระเป็นผู้ฟ้องคดีแทนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเกี่ยวกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1ภายหลังจากที่จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีเกี่ยวกับประเด็นข้อนี้และศาลแรงงานกลางได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท ทั้งโจทก์ได้สืบพยานไปแล้ว เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงิน รับซื้อลดเช็คและให้สินเชื่อโดยวิธีอื่น ๆ มีนายอุกฤษฎ์ ควรพินิจ และนายสุจินต์ชววิสุทธิกูล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทโจทก์และโจทก์ประกอบธุรกิจเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองของกระทรวงพาณิชย์และหนังสืออนุญาตของกระทรวงการคลัง เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1, 2แต่ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 กลับเป็นสำเนาหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ รับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดฟูหงวน เทรดดิ้ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทำการค้าน้ำมันหล่อลื่นน้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืชและยารักษาโรคสัตว์ทุกชนิด ฯลฯ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงิน รับซื้อลดเช็ค และไม่ได้ประกอบธุรกิจเงินทุนเพื่อการพาณิชย์กับมีนางนัยนาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเห็นได้ว่า สำเนาหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ดังกล่าวมิใช่เป็นหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์จำเลยเองก็เคยทำงานเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์มาก่อนย่อมทราบดีว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ทั้งจำเลยได้ให้การตามคำให้การหน้าแรกว่า “จำเลยยอมรับว่าจำเลยเคยเป็นกรรมการของบริษัทโจทก์…”เป็นการรับรองว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลแล้ว เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1จึงเป็นเรื่องที่โจทก์แนบมาผิดพลาดและหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลที่แนบมาท้ายฟ้องก็เพื่อให้ชัดเจนในฐานะของโจทก์เท่านั้นไม่ใช่หลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นข้อกล่าวหาตามฟ้อง เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1พร้อมทั้งแนบหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ฉบับที่ถูกต้องมาด้วย แม้จะยื่นภายหลังจากที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาท และโจทก์ได้สืบพยานไปแล้วศาลแรงงานกลางก็ย่อมมีอำนาจอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องได้ กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลมาแต่ต้นการมอบอำนาจให้นายวัชระฟ้องคดีแทนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน

Share